กองทัพบก สนับสนุนอากาศยานแบบ MI 17 ในการจัดกิจกรรม”รณรงค์และซักซ้อมการดับไฟป่า ประจำปีงบประมาณ 2561″ ของจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ แม่ทัพน้อยที่ 3 ประชุมซักซ้อมวางแผนด้านการปฏิบัติงาน เตรียมความพร้อมสำหรับกิจกรรมในวันที่ 30 ม.ค.นี้
วันที่ 28 มกราคม 2561 ที่ ห้องประชุม ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า (ศอ.ปกป.ภาค สน.) อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.สมพงษ์ แจ้งจำรัส แม่ทัพน้อยที่ 3 และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า ซักซ้อมวางแผนด้านการปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมของกิจกรรมรณรงค์และซักซ้อมการดับไฟป่า ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยกองทัพภาคที่ 3 ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ บูรณาการกับทุกภาคส่วนจัดขึ้น ในวันที่ 30 มกราคมนี้ ที่ สนามรามัญวงศ์ กองพลทหารราบที่ 7 อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะมี พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานในงาน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการรวมพลังและความพร้อมของทุกภาคส่วนและประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่
สำหรับ กิจกรรมรณรงค์ในปีนี้ กองทัพบกสนับสนุนอากาศยานใช้งานทั่วไปแบบ MI 17 (เอ็มไอ สิบเจ็ด )ที่มีสมรรถนะเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางแบบแกนใบพัดเดี่ยว เครื่องยนต์เทอร์โบ ใช้กำลังเครื่องยนต์ 2,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 139 ไมล์ต่อชั่วโมง บินได้นาน 3 ชั่วโมง 10 นาที สามารถติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟ Bambi Bucket บรรจุน้ำได้ 5,000 ลิตร และเฮลิคอปเตอร์ EURO COPTER เป็นเฮลิคอปเตอร์ของศูนย์ปฏิบัติการบินที่ 2 เชียงใหม่ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถติดตั้ง Bambi Bucket ขนาด 500 ลิตร สำหรับทิ้งน้ำดับไฟเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์และซักซ้อมการดับไฟป่า ประจำปีงบประมาณ 2561 เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ
ด้าน พ.ท.วัฒนศักดิ์ แสงศรี นายทหารตรวจสอบมาตรฐานการบิน กรมบิน ช่วยราชการ กองพันบินที่ 41 ในฐานะหัวหน้าคณะกิจกรรมรณรงค์และซักซ้อมการดับไฟป่า กล่าวว่า ในส่วนของอากาศยานที่ได้นำมาใช้ในกิจกรรมรณรงค์และซักซ้อมการดับไฟป่า ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งในภาวะปกติจะประจำการอยู่ที่กองพันบินที่ 41 กรมบิน ศูนย์การบินทหารบก จังหวัดลพบุรี และจะมาปฏิบัติการเมื่อร้องขอหากเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่กองทัพภาคที่ 3 โดยสามารถบรรทุกคนได้ปกติ 25 ที่นั่งเสริมได้เพิ่มอีกถึงจำนวน 56 ที่นั่ง และสามารถบรรทุกสิ่งของได้มากที่สุด 4 ตัน
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของการดับไฟป่าจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) บริเวณที่เกิดเหตุไฟป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นเข้าดับไฟได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น 2) ทิ้งสกัดด้านหน้าไฟ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและสามารถลดความร้อน นำไปสู่การไฟดับได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาสลับซับซ้อน การเดินเท้าหรือการเข้าถึงพื้นที่ที่เกิดไฟป่าจะค่อนข้างยากลำบาก หากนำอากาศยานที่มีศักยภาพและสมรรถนะที่ดีมาใช้ ก็จะทำให้สามารถลดพื้นที่ป่าไม้ที่สูญเสียจากเหตุไฟป่าในภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่