กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดงานทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 127 ปี มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ให้มีความเข้มแข็งตามมาตรฐานสากล

กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดงานทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 127 ปี มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ให้มีความเข้มแข็งตามมาตรฐานสากล

30 มกราคม 2561 นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมด้วยผู้บริหาร อดีตผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ ร่วมกันทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมวิทยาศาสตร์บริการ ครบรอบ 127 ปี ณ ห้องประชุมวิทยวิถี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ตั้งเป้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสากล สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยนวัตกรรม และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ตลาดโลก

นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า 127 ปี ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้วางรากฐานงานบริการ วทน. ให้กับประเทศไทย สร้างความเข้มแข็งด้านห้องปฏิบัติการทดสอบ สอบเทียบ สู่มาตรฐานสากล ผ่านงานบริการต่างๆ ได้แก่ การทดสอบคุณภาพสินค้า การสอบเทียบเครื่องมือวัดระดับทุติยภูมิ การรับรองผลิตภัณฑ์ การพัฒนาและรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการ การพัฒนาและการรับรองบุคลากร ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการทดสอบ และการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบการฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีผู้รับบริการทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจรายย่อย ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการมีความตั้งใจที่จะส่งมอบบริการที่ดี มีคุณภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และพร้อมที่จะดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความสามารถการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

นางอุมาพรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง และได้ตั้งเป้าหมายในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบและรับรองตามมาตรฐานสากล โดยการปรับบทบาทขององค์กรให้มีความพร้อมและกำหนดเป้าหมายการให้บริการที่ชัดเจนมุ่งเป้ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ฯลฯ ในขณะเดียวกันกรมวิทยาศาสตร์บริการยังจะต้องขยายผลการดำเนินงานที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานรากให้มีผลกระทบมากขึ้น ผ่านการยกระดับศักยภาพ SMEs วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจรายย่อยด้วย วทน. โดยสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และหน่วยงานต่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง และ สุดท้ายกรมวิทยาศาสตร์บริการต้องพัฒนานวัตกรรมการให้บริการเพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการ สอดคล้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและประเทศไทย 4.0 เช่น การยกระดับ One Stop Service ให้สามารถใช้งานได้ในรูปแบบ Mobile Application อย่างเต็มรูปแบบในทุกบริการเพื่อรองรับการเข้าถึงบริการตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งทิศทางการพัฒนากรมวิทยาศาสตร์บริการดังกล่าว จะสามารถสนับสนุการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

Related posts