เพชรบูรณ์ โรงเรียนวังโป่งเปิดบ้านวิชาการ (open house) เพื่อสร้างความสัมพันธ์
ที่หอประชุมโรงเรียนวังโป่งพิทยาคม อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ได้จัดโครงการเปิดบ้านวิชาการ (open house) โดยมี นายคำภาสน์ บุญเติม ผู้อำนวยการโรงเรียนวังโป่งพิทยาคม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์แก่ นางฉัตรนภา เมืองแป้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท้ายดง ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนวังโป่งพิทยาคม ประธานในพิธีเปิดงานโครงการ เปิดบ้านวิชาการ เพื่อเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน ศิษย์เก่า องค์กรอื่นๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างบุคลากรภายในสถานศึกษา ระหว่างสถานศึกษากับ ครอบครัว ชุมชน และองค์กร หน่วยงานทางการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อเปิดมิติแห่งการเรียนรู้ในยุค 4.0 โดยมี นักเรียนระดับประถมศึกษาในเขตบริการ และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1- 6 ผู้ปกครองนักเรียน ผู้นำชุมชนท้องถิ่น หน่วยงาน พร้อมทั้ง ผู้บริหารโรงเรียนในสังกัด สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1 เข้าร่วมกว่า 700 คน
ทั้งนี้ ภายในงานเปิดบ้านวิชาการ (open house) ได้จัดแสดงนิทรรศการต่างๆมากมาย แต่มีหนึ่งโครงงานที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และเรียกเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก คือ โครงงานสืบค้นภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง ที่จับเขียด นำเสนอโดย นางสาวสุภาภรณ์ กงอุ่นใจ และ นางสาวณารากร แน่นอุดร นักเรียนชั้น ม.4/1 โดยมีครูสายทอง ปัญญาพวก เป็นครูที่ปรึกษา กล่าวคือ เขียด มีอยู่ทั่วไปจำนวนมากตามท้องทุ่งนา มักออกหากินช่วงเวลา 18.00 – 00.00 น. พบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเขียดนั้น สามารถนำไปจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อสร้างรายได้เสริม และนำมาเป็นอาหาร เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน
โดยที่ผ่านมา ชาวบ้านมักใช้วิธีจับเขียดด้วยมือเปล่า บางตัวก็สามารถจับได้ บางตัวก็กระโดดหนี เนื่องจากวิธีนี้ ชาวบ้านต้องเข้าไปใกล้ตัวเขียดให้มากที่สุด ทำให้จับเขียดได้น้อย หรือ ไม่ได้เลย ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว นักเรียนโรงเรียนวังโป่งพิทยาคม จึงคิดหาวิธีจับเขียดสมัยใหม่ โดยต่อยอดมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดน้ำพลาสติก มาดัดแปลง ประยุกต์เป็นที่จับเขียด เพื่อให้ชาวบ้าน จับเขียดได้มากขึ้น สามารถสร้างรายได้เสริม และลดรายจ่ายในครัวเรือน ได้เป็นอย่างดี
สำหรับขั้นตอนการทำที่จับเขียด เริ่มจาก หาไม้อะไรก็ได้ ที่มีความยาวประมาณ 3-4เมตร นำมาเหลาให้ขนาดบริเวณปลายไม้ ยัดเข้าขวดพลาสติกได้ และไม่ควรเหลาให้เล็กเกินไป เพราะอาจทำให้ขวดหลวมได้ จากนั้นให้นำขวดพลาสติกที่มี มาตัดครึ่ง และนำอีกขวดมาเจาะรูด้านข้างเพื่อที่จะได้ยัดขวดที่ตัดครึ่งไว้สำหรับคลอบเขียด หลังจากนั้นให้นำไม้ที่เตรียมไว้ เสียบเข้าไปบริเวณปากขวด ก็นำไปใช้จับเขียดได้แล้ว ทั้งนี้ หากใครอยากเพิ่มความสวยงาม และเพิ่มมูลค่า ก็สามารถตกแต่ง ทาสี ได้ตามความเหมาะสม
เดชา มลามาตย์/มนสิชา คล้ายแก้ว ผู้สื่อข่าวจังหวัดเพชรบูรณ์