รองศาสตราจารย์ ดร.ชฎา ณรงค์ฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถานภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือตอนล่าง อาจารย์ประจำคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่ามหาวิทยาลัยนเรศวรได้บูรณาการผลงานวิจัยเชื่อมโยงส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว ในโครงการ Green Khaokho สานต่อ Route 12 เนื่องจากได้เล็ง เห็นว่าการสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวของชุมชน ถึงการพัฒนาและการจัดการที่มีคุณภาพ ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ของเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้จัดโครงการ Green Khaokho สานต่อ Route 12 เป็นการนำผลงานการวิจัยมาใช้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ หากมีการบริหารจัดการและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ โดยเฉพาะเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่สูง ในแต่ละปีสามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาเยือนมากมาย สำหรับผลงานการวิจัยที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเขาค้อ จะมุ่งเน้นพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมและเทศกาล ในพื้นที่ภูหินร่องกล้า ภูทับเบิกและเขาค้อ การพัฒนาการเรียนรู้เครือข่ายของกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวสีเขียว เช่นรีสอร์ทต่างๆมีการบริหารจัดการด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย จัดการของเสียและใช้พลังงานทอดแทนผลิตอาหารปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐาน การส่งเสริมปลูกพืชทางเลือก เพื่อทดแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทุ่งดอกไม้
ในขณะนี้ได้ทดลองและวิจัยการปลูกดอกเก๊กฮวยและดอกคาโมมายในรูปแบบไม่ใช้สารเคมีซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีสามารถตอบโจทย์ในด้านเชิงธุรกิจท่องเที่ยวและการค้าได้ โดยในส่วนของดอกเก๊กฮวยนั้นมีดอกค่อนข้างใหญ่ มีกลิ่นหอมสามารถนำไปทำเป็นชาเก๊กฮวยซึ่งมีรสชาติที่หอมหวาน ส่วนดอกคาโมมายก็สามารถนำไปทำเป็นเครื่องดื่มได้เช่นเดียวกัน แต่สำหรับดอกคาโมมายนั้นโดยธรรมชาติจะมีกลิ่นหอมอยู่ในตัวอยู่แล้วหากเราเดินอยู่ในแปลงจะได้กลิ่นหอมของดอกคาโมมายอยู่ตลอดเวลาและนอกจากนั้นดอกคาโมมายยังสามารถนำไปสกัดเป็นหัวน้ำหอมและขายได้ในราคาที่สูงอีกด้วย
ด้านนายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า Green Khaokho สานต่อ Route 12 สอดคล้องกับแนวทางและนโยบายของจังหวัด ที่มุ่งเน้นให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สะอาด ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้รณรงค์ไปยังทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ และส่วนราชการ ตลอดจนนักท่องเที่ยว ให้ตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวที่ได้รับทั้งการผ่อนคลาย เพลิดเพลิน พร้อมๆกับการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม เชื่อว่า หากทุกฝ่ายร่วมกันอย่างจริงจัง นอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้แล้ว ยังรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้เป็นอย่างดีด้วย
ข้อมูลภาพ/ข่าว มนสิชา คล้ายแก้ว เพชรบูรณ์