“กรมชลฯปล่อยน้ำให้ชาวนา 13 ทุ่ง ปลูกข้าวเต็มที่120 วัน ทำข้อตกลงร่วมกันหลังเก็บเกี่ยว 15 ก.ย.ผันน้ำหลากเข้าแก้มลิง ชี้บริหารจัดการน้ำโดยใช้แก้มลิง -ทำนาเหลื่อมเวลา ช่วยแก้อุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา”
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. นายสุชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 จ.ชัยนาท เปิดเผยว่านายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯให้นโยบายการจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ13 ทุ่ง ได้ปรับปฎิทินปลูกข้าวเร็วขึ้น เกือบ 1.5 ล้านไร่ โดยด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะมีทุ่งบางระกำ พื้นที่ 3 แสนไร่ ปล่อยน้ำให้เริ่มปลูกข้าว 1 เม.ย. และพื้นที่ลุ่มท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 12 ทุ่งเจ้าพระยา พื้นที่ 1.15 ล้านไร่ ชณะนี้เริ่มปล่อยน้ำผ่าน4 ประตู เพื่อส่งเข้าระบบชลประทานฝั่งซ้าย-ขวา ผ่านประตูมโนรมย์ -มหาราช และบรมธาตุ-พลเทพ ซึ่งชาวนาลงมือเพาะปลูกพร้อมกันได้ตั้งแต่ 1 พ.ค.-15 พ.ค.จะเก็บเกี่ยวข้าวช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 15 ก.ย.โดยได้ทำประชาคมที่พื้นที่ตกลงกันแล้ว หลังจากนั้นเตรียมตัดยอดน้ำเข้าทุ่ง เป็นหลักการสำคัญในการบริหารจัดการก่อนนำน้ำมวลขนาดใหญ่เข้าพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติ ลดผลปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ย่านเศรษฐกิจ และกรุงเทพ-ปริมณฑล ในปีนี้เป็นที่สองได้บริหารเพาะปลูกเหลื่อมเวลามีความพร้อมเต็มที่ ซึ่งชาวนาให้ความร่วมมืออย่างดี
นายจำนงค์ ธรรมสอน ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าปีที่แล้วประสบความสำเร็จในการเลื่อนเวลาปลูก ข้าว การนำน้ำเข้าทุ่งไม่ท่วมถนน แต่ช่วงระยะเวลาการท่วมนานกว่าปี54 ซึ่งปีนี้ประชุมทำความเข้าใจชาวนาได้เร่งทำและขอน้ำก่อนเตรียมแปลง ได้จังส่งน้ำเพิ่มวันละ 3 -3.50 ล้านลบ.ม.เข้าทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางบาล ในช่วง100 วันที่ใช้น้ำทำนาสูงสุด
“ปีนี้พร้อมกว่าปีแล้ว ได้เสริมคันแก้มลิงเพิ่มขึ้น ระดับ 3.50 เมตร โดยประชาคมทุกพื้นที่ หลังวันที่15 ก.ย.แล้ว นำพื้นที่เก็บเกี่ยวไว้รับน้ำหลาก อย่างไรก็ตามยังมีหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่ง ไม่อยากได้น้ำในย่านติดกับพื้นที่อุตสาหกรรม จะต้องเสริมคันเพิ่มขึ้น เช่นถนนบางบาล และทำคันเพิ่มอีก 22 กม. จากอ.ผักไห่ ถึงแม่น้ำท่าจีน “นายจำนงค์ กล่าว
ด้านกำนันบุญเกื้อ ราชสันต์ ต.ลาดชะโด อ.ผักไห่ กล่าวว่าชื่นชมกรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำแบบการมีส่วนร่วม อธิบดีกรมชลประทาน ลงมาดูพื้นที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ทำให้แก้ปัญหาความเสียหายจากอุทกภัยได้เกือบ 100% และแก้มลิงยังเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้งไม่ปล่อยระบายน้ำทิ้งทะเล โดยเห็นผลชัดเจนชาวนาลดต้นทุนได้มากราคาข้าวตันละ7 พันบาท ยังมีกำไรได้ไร่ละ 1-1.5 พันบาท เพราะประหยัดค่าสูบน้ำจาก10 ครั้งต่อรอบเหลือ 4 ครั้ง ใส่ปุ๋ย จาก3 ครั้งเหลือ2 ครั้ง ทั้งนี้ยังสามารถขอน้ำผ่านไลน์กลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกับชลประทาน ส่งผลให้การส่งน้ำกระจายทำได้ทั่วถึงไม่เกิดความขัดแย้งในพื้นที่จากอดีตที่เคยแย่งน้ำกันระหว่างต้นคลองกับปลายคลอง
ประพัฒน์ บวรภโรทัย
บวรทัต แย้มเผื่อน
ภาวิต หันตะคุ
รายงาน