สกศ.ร่วมประชุมเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อระดมความคิดเห็นพัฒนาการเรียนรู้ หาดใหญ่ สงขลา
เมื่อวันที่(๒๗ เมษายน ๒๕๖๑) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์) เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ : สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม (นายอารี ดิเรกกิจ) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการเรียนรู้ (นางเกื้อกูล ชั่งใจ)
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษาขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ดร.มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์) พร้อมผู้แทนสมาพันธ์การศึกษาทางเลือกแห่งประเทศไทย กลุ่มเด็กและเยาวชนสามจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดต่อสถานการณ์การศึกษาเชิงอัตลักษณ์ชาวมุสลิมในแต่ละระดับ ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามเพื่อปฏิรูปการศึกษามานานแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรูปแบบการเรียนรู้และวิถีชีวิต อาชีพแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้ ๔ คลื่นที่ถาโถมสู่สังคมไทยวันนี้ ๑.กระแสโลกดิจิทัล ๒.โลกาภิวัตน์หรือ Globalization เป็นผลจากการพัฒนาการติดต่อสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ อันแสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน หน่วยธุรกิจ และรัฐบาลทั่วทั้งโลก ๓.สภาพเศรษฐกิจและอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้น ภาคเกษตรกรรมไทยต้องปรับตัวมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น คิดค้นวิจัยข้าวพันธุ์ใหม่ที่สามารถรักษาโรคได้ หรือสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ อาทิ Grab Taxi ฯลฯ ทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าจากสิ่งเดิมที่มีและสร้างรายได้มากขึ้น และ ๔.สังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ท้องถิ่นมีความสำคัญและมีบทบาทมากขึ้นไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางอีกต่อไป
“สิ่งที่สภาการศึกษาต้องการคือ เสียงสะท้อนความต้องการที่แท้จริงจากเด็ก ๆ เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กต้องการบรรยากาศการจัดการเรียนรู้ หรือการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร จึงเหมาะสมกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ประเด็นสำคัญทำอย่างไรให้เรียนรู้แล้วสามารถมีงานทำและสร้างอาชีพได้ สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑” ดร.ชัยยศ กล่าว
ด้าน นายอารี ดิเรกกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม กล่าวว่า ศอ.บต. ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ข้อมูลการจัดการศึกษาที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันแก่เยาวชนในพื้นที่ จชต. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อ รวมถึงการวางแผนการดำเนินชีวิตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติสุข และขอบคุณสภาการศึกษาที่มอบโอกาสและสร้างช่องทางการเสนอแนะการจัดการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนชาวใต้ และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญโดยใช้การสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จชต.
การประชุมรอบนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๘ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นตามระดับ ประเภทการศึกษา (มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาทางเลือก ปอเนาะและตาดีกา) เพื่อทบทวนปัญหาด้านการศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ จชต. ภายใต้ ๓ แนวคิดสำคัญ ๑.รูปแบบและวิถีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ๒.ทักษะที่จำเป็นของคนรุ่นใหม่ และ ๓.ออกแบบห้องเรียนในฝัน นำไปสู่การสังเคราะห์แนวทางเพื่อออกแบบการเรียนรู้ในอนาคตอย่างสอดคล้องความต้องการที่แท้จริงในเชิงพื้นที่ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลและนโยบายประเทศไทย ๔.๐ พร้อมจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
คณาโชค ตามจิตเจริญ ภาพ / รุ่งรัชนี มวลชนสัมพันธ์สมาคมสื่อฯ รายงานข่าวสภาการศึกษา