ยะลา มอบหลักสูตรให้กับสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งแรกในประวัติศาตร์ไทย เพื่อให้โต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะมีความเข้าใจบทบาทของรัฐบาลกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้(10 พ.ค 61) ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา อ.เมือง จ.ยะลา นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบหลักสูตรให้กับสถาบันปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อให้โต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้าใจบทบาทของรัฐบาลกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และให้โต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทราบแนวทางการนำหลักสูตรแกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะไปใช้จัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ พัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ครอบคลุมกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ที่จะนำไปสู่ความผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้า โดยมีอัลกุรอานและอัลหะดีษเป็นธรรมนูญและทางนำ ซึ่งมุสลิมทุกคนต้องศึกษาหาความรู้เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข นอกจากนี้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ยังได้ร่วมบรรยายพิเศษ “รัฐบาลกับการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ จชต.สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยในพิธี ฯ มี นายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการ จ.ยะลา ผู้แทนเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทน ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน โต๊ะครู สถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานการศึกษาเอกชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,134 คน
สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการวางแนวทางในการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็นสถาบันการสอนศาสนาอิสลามที่ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมตามหลักศาสนาอิสลามให้แก่เยาวชนมุสลิม โดยมี “โต๊ะครู” เป็นผู้สอนและผู้จัดการ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน 2547 เพื่อให้ “ปอเนาะ” ได้จดทะเบียนต่อทางราชการและดำเนินงานอย่างถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันศึกษาปอเนาะที่จดทะเบียนแล้ว จำนวน 487 แห่ง (ข้อมูล 10 มิ.ย. 60) โดยใช้ประมวลการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงศึกษาธิการ มี 16 รายวิชา ประกอบด้วย 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศาสนาอิสลาม กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาและจริยธรรม และ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษา ในปีพุทธศักราช 2560 โต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการที่จะพัฒนาและยกระดับการจัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมกับเน้นความต้องการที่จะให้ผู้เรียนได้รับวุฒิบัตรทางด้านอิสลามศึกษาเมื่อสำเร็จการศึกษาจากสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อให้สามารถเทียบโอนการเรียนรู้และสามารถศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ จึงได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงประมวลการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นหลักสูตรแกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาต่อไป โดยหลักสูตรดังกล่าวได้แบ่งการจัดการเรียนการสอนเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอิบติดาอียะฮฺ (ระดับตอนต้น) ระดับมุตะวัซซิเฏาะฮฺ (ระดับตอนกลาง) และระดับอาลียะฮฺ (ระดับสูง)
การดำเนินการจัดทำหลักสูตรแกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะพุทธศักราช 2561/ฮิจเราะฮฺศักราช 1439 ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะ จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พัฒนาอิสลามศึกษา สำนักงานศึกษาธิการภาค 8 ทำหน้าที่เป็นเลขานุการในดำเนินการ
นายอดินันท์ ปากบารา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภารกิจวันนี้คือการมอบหลักสูตาแกนกลางของสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ.2561 หรือปี ฮิจเราห์ศักราด 1439 ให้กับบรรดาบาบอโต๊ะครูสถาบันศึกษาปอเนาะ 487 แห่ง ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเรียนว่าเป็นประวัติศาตร์ของชาติไทยที่มีหลักสูตรการศึกษาปอเนาะที่เป็นเล่มเป็นครั้งแรกโดยรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ รับมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ที่เด่นกว่าเดิมมากคือหลักสูตรนี้ร่างโดยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาในท้องถิ่นจริงๆ สมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านบาบออาศิษ ยันยา และคณะ ร่วมกับทางราชการ และจุดเด่นที่สร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาเป็นระบบเรียกว่าหลักสูตร 433 คือเรียน 4 ปี ในระดับต้น แล้วเรียนมูตาวาซีเตาะห์อีก3 ปี และเรียนอาลียะห์อีก 3 ปี จบแต่ละระดับจะมีประกาศเกียรติบัตรหรือที่เรียกว่าซาฮาดะห์ ได้สำรวจความคิดเห็นของพี่น้องผู้ปกครองประชาชนในพื้นที่ก็จะมีความภาคภูมิใจถ้าลูกหลานได้เรียนจบแล้วมีประกาศณียบัตรรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ สามารถนำไปศึกษาต่อในและต่างประเทศ
นายอดินันท์ ยังกล่าวว่าการพัฒนาบุคลากรเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะว่างานธุรการ ชั้นเรียนก็ดี งานการเรียนการสอน การใช้สื่อ การวัดผลประเมินผลและการรับรองผลการเรียนเป็นเรื่องใหม่สำกรับปอเนาะ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานการศึกษาเอกชนจะเป็นผู้ให้การอบรมความรู้เหล่านี้และสร้างประสบการณ์ให้มีความมั่นใจว่าในปีการศึกษา 2561 สามารถใช้ได้
มูกะตา หะไร จ.ยะลา