หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน” หอการค้าแฟร์ 2018 “หวังกระตุ้นเศรษฐกิจเชียงใหม่
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน “หอการค้าแฟร์ 2018”โดยมี
นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางวิภาวัลย์
วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมงาน ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จัดงาน “หอการค้าแฟร์ 2018” Chiang Mai Chamber of Commerce Fair 2018 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายในงาน Lanna Expo 2018 ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
โดยได้รับการสนับสนุนจากดียิ่งจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และจังหวัดเชียงใหม่ที่สนับสนุนพื้นที่จัดงานหอการค้าแฟร์ 2018 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางทางการตลาดของผู้ประกอบการ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ
คาดว่าจะมีผู้ร่วมชมงานมากกว่า 250,000 คนตลอด 10 วัน และจะสร้างรายได้หมุนเวียนมากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นกว่าการจัดงานในปีที่ผ่านมา ทั้งยังต่อยอดโดยการจับคู่ค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยกับจีนและเมียนมา เพื่อเริ่มต้นยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ก้าวสู่สากล
“ในปี 2561 หอการค้าฯ ได้รับการสนับสนุนจากดียิ่งจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 และจังหวัดเชียงใหม่ที่สนับสนุนพื้นที่จัดงานหอการค้าแฟร์ 2018 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางทางการตลาดของผู้ประกอบการ พร้อมกับส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคเหนือ ซึ่งได้จัดบู้ธจำหน่ายสินค้าและแสดงศักยภาพเศรษฐกิจของเชียงใหม่ทั้งหมด 125 บูธ แบ่งเป็นโซนสินค้าฮาลาล ฮาลาลสตรีท โซนนิทรรศการฮาลาล โซน Wellness โซนผู้ประกอบการจากโครงการ Cosmetic Valley โซนตลาดผลไม้ เป็นต้น”
ประธานหอการค้าฯ กล่าวอีกว่า หอการค้าแฟร์ 2018 นับเป็นกิจกรรมครั้งใหญ่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างดียิ่ง และใกล้ชิดกับภาครัฐ ภาคการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่สำคัญในการผลักดันโครงการเชิงยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ผ่านการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม และเป็นการจัดงานที่หอการค้าฯ วางรูปแบบการจัดงานที่ใหญ่ที่สุดในเชิงบูรณาการโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่แบบครบวงจร
ดร.วินัย ดะลันห์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าทางศูนย์น ได้ให้ความสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้เกิดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมด้านฮาลาลในพื้นที่ภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง ที่จะส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางด้านฮาลาลของภาคเหนือ ตลอดจนการกระตุ้นธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลพื้นที่ภาคเหนือ และสร้างโอกาสและช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs และส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือเป็นศูนย์กลางในการกระจายผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลในระดับภูมิภาคและอาเซียนในอนาคต
“ปีนี้ได้ร่วมออกบู้ธภายในโซนหอการค้าฯแฟร์ 2018 จำนวนถึง 70 บูธ ซึ่งนอกจากสินค้าประเภทอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาลแล้ว ยังมีสินค้ากลุ่มอื่นๆ อาทิ สินค้ากลุ่มท่องเที่ยว ซอฟต์แวร์ เป็นต้น ที่จะร่วมนำเสนอขายภายในงาน เป็นการแสดงศักยภาพของสินค้าฮาลาลของจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะช่วยสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาล สามารถขยายตลาดต่อไปได้ถึงระดับโลก รวมถึงทางโซนตะวันออกลางและยุโรปด้วย เนื่องจากขณะนี้มีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวมุสลิมเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้”
ด้านดร.ณพศิษฐ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า การดำเนินโครงการในปีนี้ถือเป็นการบูรณาการอย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษากับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้ดำเนินโครงการร่วมกันได้แก่
1.) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการดิจิทัลของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้ก้าวสู่ Super Cluster ด้านดิจิทัล Thailand 4.0
2.) โครงการ Cross Border E- commerce
3.) โครงการ smart farmer และ smart insect
4.) โครงการหน้าต่างการท่องเที่ยวสู่ล้านนา (Lanna Tourism Enclave) ที่ได้ดำเนินการผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) ในจังหวัดเชียงใหม่ และกิจกรรมการอบรมผู้ประกอบการล้านนาลองสเตย์
5.) “โครงการพัฒนานวัตกรรมสมุนไพรสำหรับเครื่องสำอางภาคเหนือ” (Cosmetic Valley) (Lanna Long Stay)ของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
6.) โครงการ “พัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมของผู้ประกอบการใหม่ภาคเหนือ รุ่นที่ 2 – Northern Innovative Startup Thailand (NIST) : Batch 2” ของอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ดำเนิน เพื่อสร้างผู้ประกอบการ Start Up อย่างต่อเนื่อง
7.) โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ของ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่