สภากทม.ระดมสมองเตรียมกำหนดแนวทางพิจารณาร่างข้อบัญญัติกทม.งบประมาณปี 62 ที่ชะอำ เพชรบุรี
ที่ โรงแรมเมธาวลัย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี วันนี้( 5 ก.ค.61)เวลา 10.00 น. : ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการสัมมนาของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมแนวทางการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ระหว่างวันที่ 5 – 6 ก.ค.61 โดยมี นายกิตติ บุศยพลากร รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่ 1 นายนิรันดร ประดิษฐกุล รองประธานสภากรุงเทพมหานคร คนที่ 2 สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 คณะ น.ส.อารีย์ วงศ์นพรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นางรสธารินทร์ อุ่นอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักคลัง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนา
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในการสัมมนาในครั้งนี้ นับเป็นปีที่ 4 ของการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จึงได้เชิญสำนักการคลัง สำนักงบประมาณ ของกรุงเทพมหานครมาร่วมในการสัมมนาฯด้วย เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันหารือ และอยากทราบแนวคิดของการทำงบประมาณของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรัดกุมรอบคอบของการจัดทำงบประมาณฯ ในส่วนของรายละเอียด แนวคิดบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกัน เป็นเรื่องของนโยบายก็ไม่เป็นไร ให้ตอบตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะไปประชุมกับฝ่ายบริหารก่อนที่จะเปิดประชุมสภากรุงเทพมหานคร พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯในวาระแรก
นางสาวอารีย์ วงศ์นพรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณ 2562 มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ. ศ. 2560 หมวด 1 มาตรา 5 วรรค 3 ระบุว่าการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติและแผนอื่นใด รวมตลอดทั้งการจัดทำประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ต้องคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยเน้นเรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนที่ 6 การคลังท้องถิ่นมาตรา 65 การจัดทำงบประมาณการใช้จ่ายการก่อหนี้ผูกพันและการบริหารทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ความคุ้มค่าความประหยัดและฐานะทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ส่วนมาตรา 66 การจัดทำงบงานประจำปีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาฐานะต่างๆขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณการจัดเก็บรายได้ประจำปีงบประมาณนั้นโดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นและพระราชบัญญัตินี้
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวอีกว่า การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ. ศ. 2562 ปลัดกรุงเทพนคร ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กท 1902/1001 ลงวันที่ 10 พ.ย.2560 ให้ทุกหน่วยงานจัดทำคำของบประมาณโดยถือปฏิบัติตามแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ. ศ. 2562 ให้หน่วยงานที่เสนอคำของบประมาณเฉพาะที่จำเป็นและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนประหยัดเริ่มปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อให้มีงบประมาณสำหรับงานโครงการตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ ศ. 2561- 2565 ) โดยให้เสนอ เฉพาะงานโครงการที่บรรจุไว้ในแผนประวัติงานราชการกรุงเทพมหานครประจำปีพศ 2562 ซึ่งการซึ่งผ่านการพิจารณาจาก สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลแล้ว ให้อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่เหมาะสมจำเป็นปฏิบัติงานได้จริง ให้รับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ประชาชน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้ง ระบุข้อสังเกตของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณปีที่ผ่านมารับประกอบการพิจารณาโดยขอตั้งงบประมาณฯ ครบถ้วน กรณีรายจ่ายผูกพันตามสัญญามติคณะรัฐมนตรี ตามที่รับอนุมัติจากสภากรุงเทพนครและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณารายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี (โดยมีนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน) ได้กำหนดนโยบายและกรอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ 2562 ดังนี้ 1.นโยบายจัดทำงบประมาณของกรุงเทพมหานครแบบสมดุล 2.กรอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ 2562 กรุงเทพมหานครกำหนดวงเงิน 8 หมื่นล้านบาทตามที่สำนักการคลังประมาณการรายรับ 8 หมื่นล้านบาท การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร กำหนดวงเงิน 445.81 ล้านบาท จากงบประมาณรายรับ 750.61 ล้านบาท
ด้านนางรสธารินทร์ อุ่นอนันต์ รองผู้อำนวยการสำนักคลัง เปิดเผยถึงสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 กรุงเทพมหานครมีเงินฝากธนาคาร จำนวน 57,547.50 ล้านบาท มีเงินสะสมหลังหักเงินกันไว้เหลื่อมปี จำนวน 32,817.44 ล้านบาท กรุงเทพมหานคร มีงบประมาณที่มีภาระผูกพันตามสัญญาของโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว จำนวน 47,393.09 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่มีวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 28,522.65 ล้านบาท โครงการที่มีวงเงิน 500 – 1,000 ล้านบาท จำนวน 9,550.09 ล้านบาท และโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 9,320.35 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่ก่อหนี้ผูกพันมีโครงการต่อเนื่องมากที่สุดแบ่งเป็น 5 อันดับ ได้แก่ 1.สำนักสิ่งแวดล้อม 2.สำนักการระบายน้ำ 3.สำนักการโยธา 4.สำนักการจราจรและขนส่ง และ 5.มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
…………………………
วัฒนา..ข่าวBHC NEWS…รายงาน