อุบลราชธานี - เปิดหมู่บ้าน OTOP VILLAGE ท่องเที่ยวแห่งใหม่ 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน
เมื่อวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เปิดบ้านแก้งเรือง อำเภอนาจะหลวย เป็นสถานทีท่องเที่ยวแห่งใหม่ หนึ่งในหมู่บ้าน OTOP ตามโครงการ หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว OTOP VILLAGE 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวพลาญกงเกวียน อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมเปิดตัวการท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านแก้งเรือง ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว OTOP VILLAGE 8 เส้นทาง 10 หมู่บ้าน ขึ้น
โดยมี นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมด้วย นายธนสาร เจริญสุข นายอำเภอนาจะหลวย ผู้นำชุมชน ชาวบ้านแก้งเรือง เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ร่วมให้การต้อนรับ แสดงศิลปวัฒนธรรม และ ผลิตภัณฑ์ OTOP ของหมู่บ้าน บ้านแก้งเรือง ตั้งอยู่เส้นทางระหว่างอำเภอนาจะหลวย เชื่อมต่อกับอำเภอน้ำยืน เส้นทางรอบประเทศ บริเวณทางขึ้นน้ำตกห้วยหลวง น้ำตกบักเตว สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขา สภาพดินอุดมสมบูรณ์ วิถีชุมชนอยู่เย็น เป็นสุข อาชีพหลักคือ ทำนา ทำสวน ผลิตภัณฑ์ชุมชนสำคัญคือ น้ำสมุนไพร“หมากจอง“ หรือลูกสำรอง ไม้ยืนต้นประจำถิ่นที่เกิดขึ้นจำนวนมากในแถบนี้ นอกจากนี้ ชาวบ้านแก้งเรืองยังเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม
โดยเฉพาะฝีมือในด้านจักสานไม้ไผ่ ฃึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ได้มีการพัฒนารูปแบบต่อๆ กันมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กระติ๊บข้าว หวดนึ่งข้าวเหนียว กระด้ง พัด รวมไปถึงเสื่อผือ เสื่อกก พวงกุญแจเส้นกก เป็นต้น นายมงคล ปัตลา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นในเส้นทางต่างๆ ให้เกิดความเข้มแข็ง บนพื้นฐานของอัตลักษณ์และภูมิปัญญาพื้นถิ่น วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม ตลอดจนธรรมชาติที่สวยงาม สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้าสู่ชุมชน เพื่อสร้างงานและรายได้ในชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยจังหวัดอุบลราชธานีจัดอยู่ในเส้นทางสายอารยธรรมอีสานใต้และเส้นทางวิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ดำเนินการเชื่อมโยงสินค้า OTOP ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตในท้องถิ่นนั้นๆ เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวและบริการโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนได้รวมพลังสร้างสรรค์และพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน มีการจัดอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP การทำสื่อเรียนรู้อัตลักษณ์ ภูมิปัญญา ชาติพันธุ์ และวิถีชุมชน การสร้างเส้นทางและออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้าง นักเล่าเรื่อง Story Teller ของชุมชนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่า น่ารู้ น่าภูมิใจของชุมชนให้แก่นักท่องเที่ยว โดยอาจจะเป็นปราชญ์ชุมชน คนเก่าแก่ รวมถึงมัคคุเทศก์น้อย
เอกชัย โปธา ข่าวภูธร รายงาน