ก.พ.ร.นำสื่อมวลชน จากส่วนกลาง 50 สำนัก ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับรางวัลเสิศรัฐ ประจำปี 2561
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เวลา 13.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. คณะผู้บริหารสำนักงาน ก.พ.ร. และสื่อมวลชนกว่า 50 สำนัก ลงพื้นที่ศึกษาและเยี่ยมชมผลสำเร็จของจังหวัดที่มีผลงานจากโครงการบริหารจัดการน้ำจนได้รับรางวัลเลิศรัฐ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และครอบคลุม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน พร้อมนำแนวคิด ความเป็นไปได้มาบริหารจัดการ ตั้งแต่การปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวเหลื่อมเวลา และใช้พื้นที่นาหลังเก็บเกี่ยว 6 แสนไร่ ชะลอน้ำ หน่วงน้ำ และเก็บกักน้ำได้ถึง 1,005 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึง ป้องกันชุมชนและเขตนิคมอุตสาหกรรมได้ 2,500 แห่ง
ขณะที่ โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร เพิ่มการระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถเก็บกักน้ำได้ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรไว้ใช้ในหน้าแล้งอีกด้วย ขณะเดียวกัน ได้บริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง ควบคู่กันไปอีกด้วย ด้วยการกักเก็บ คนเมืองมีถัง คนบ้านมีโอ่ง หรือขุดดินแลกน้ำ ส่วนการป้องกัน จะแบ่งพื้นที่เป็นเขตเมือง เขตอุตสาหกรรม เกษตร พื้นที่ลุ่มต่ำ และการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมกันนี้ ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการขุดดินแลกน้ำ ที่ตำบลปากกราน อำเภอพระนครศรีอยุธยา หลังจากการขุดดินแลกน้ำ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง สามารถส่งเสริมอาชีพทดแทนในช่วงน้ำท่วม เช่น การทำประมง ปลูกบัว อีกทั้ง สร้างแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ในที่ขาดแคลน ดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ให้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลากและภัยแล้ง
ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ใช้งบประมาณแต่อย่างใด ด้านนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า การนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติงานจริงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจาก ก.พ.ร.ได้พิจารณารางวัลเลิศรัฐ ซึ่งมีความสำคัญกับหน่วยราชการที่มีการทำงานที่ดีที่สุด และพบว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีการบริหารจัดการน้ำที่มีความโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะนำการทำงานที่ยากลำบากจนประสบผลสำเร็จ ด้วยการบูรณาการกับทุกภาคส่วน และเห็นว่าหากสามารถประสานความร่วมมือได้มากเช่นนี้ จะทำให้โครงการไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เช่น โครงการขุดดินแลกน้ำ ได้ผ่านความคิดและตอบโจทย์ให้กับประชาชนจนได้รับประโยชน์ และประหยัดงบประมาณ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวไม่ใช่ทำแล้วเสร็จภายในปีเดียว แต่เป็นโครงการต่อเนื่องถึง 4 ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในการบริหารจัดการนำ้แบบบรูณาการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน
คณาโชค ตามจิตเจริญ ภาพ/รุ่งรัชนี มวลชนสัมพันธ์สมาคมสื่อฯ รายงาน