Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน (มีคลิป)

Thailand 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

วันที่ 8 มีนาคม 2560 เวลา 12.30 น. ณ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักงานนายกรัฐมนตรี,ศาสตราจารย์นายแพทย์ยงยุทธ วัชรดุลย์ ประธานเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถาน ให้เกียรติบรรยายเรื่องไทยแลนด์ 4.0 โมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ในการประชุมสภาราชบัณฑิต ครั้งที่ 1/2560

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ บรรยายว่า ไทยแลนด์ 4.0 คือโมเดลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน ซึ่งหากดำเนินการปฏิรูปสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่ “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” แต่หากปฏิรูปไม่สำเร็จประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับ “ทศวรรษแห่งความมืดมน”ในอดีตจะพบว่าประเทศไทยมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

โดยเริ่มต้นจากไทยแลนด์ 1.0 ที่เน้นเกษตรกรรม มาสู่ไทยแลนด์ 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และพัฒนาสู่ไทยแลนด์ 3.0 ซึ่งเน้นอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จวบจนปัจจุบัน ในช่วงต้นของการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 3.0 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ที่ ร้อยละ 7-8 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการคาดหวังว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่ในความเป็นจริง ไทยแลนด์ 3.0 เป็นโมเดลการพัฒนาที่ค่อนข้าง “เปราะบาง” เพราะเป็นการพัฒนาแบบ “การปักชำ” จึงมีการเจริญเติบโตแบบรากแขนง เทคโนโลยีและทุนของต่างชาติที่นำเข้ามาไม่มีกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ขาดการสะสมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทุนมนุษย์ การที่ไม่มีฐานรากที่แข็งแรงของตนเอง ละเลยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน

ในที่สุดประเทศไทยจึงต้องเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งใน พ.ศ. 2540 ซึ่งหลังจากการเกิดวิกฤตแล้ว อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตกลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 3-4 มาเกือบ 20 ปี จวบจนปัจจุบัน นี่คือภาวะของการติดอยู่ใน กับดักประเทศรายได้ปานกลาง

นอกเหนือจากการติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ภายใต้ ไทยแลนด์ 3.0 ประเทศไทยต้องเผชิญกับดักอีก 2 เรื่องสำคัญคือ กับดักความเหลื่อมล้ำ คือช่องว่างของรายได้ และโอกาสของคนจนและคนรวยที่กว้างห่างออกจากกันมากขึ้น และกับดักความไม่สมดุล

โดยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเน้นความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ละเลยการรักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมที่อยู่ดีมีสุข และการยกระดับ ศักยภาพและภูมิปัญญามนุษย์ จนส่งผลกระทบเชิงลบในมิติต่างๆมากมาย อันทำให้ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่ง มีความมั่นคงในแนวทางที่ยั่งยืน เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลสำคัญของการปรับเปลี่ยนโมเดลทางเศรษฐกิจ จากไทยแลนด์ 3.0 ไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดใช้โมเดล ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่สร้างความเข้มแข็งจากภายในควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลกตามแนวพระราชดำริ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยขับเคลื่อนผ่านกลไก “ประชารัฐ” รัฐบาลจึงได้กำหนดทิศทางการพัฒนาโมเดล ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 5 วาระดังนี้


1. การเตรียมคนไทย 4.0 ให้พร้อมก้าวสู่โลกที่หนึ่ง
2. การสร้างวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
3. การพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการเป้าหมาย
4. การเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่าน 18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด
5. การเชื่อมประเทศไทยสู่ประชาคมโลก

โมเดล ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือนำพาประเทศไทยสู่ประเทศ ในโลกที่หนึ่งที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน

 

Related posts