ททท. ขอบคุณคณะทูต จาก 28 ประเทศ ทั่วโลก ร่วมประสบการณ์ท่องเที่ยวตามรอย “ศาสตร์พระราชา” ในโครงการ
“แหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว” :
จบกิจกรรมการเดินทางใน 5 เส้นทางด้วยความประทับใจ และประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สำหรับโครงการ “แหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว” ที่ได้รับเกียรติจากเหล่าเอกอัครราชทูตกว่า 50 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก ร่วมเดินทางลงพื้นที่สัมผัสเส้นทางท่องเที่ยว และร่วมทำกิจกรรมอย่างสนุกสนาน เป็นการเดินทางที่ให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจ ใน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย โครงการ 1 ไร่แก้จน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนทหารบก จ.ราชบุรี – ชุมชนบ้านศาลาดิน จ.นครปฐม, โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำต้นลำปะเทีย – ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์, โครงการศูนย์บริการการพัฒนาปลวกแดงตามพระราชดำริ – ชุมชนปากน้ำประแส จ. ระยอง, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ – ชุมชนบ้านแหลม จ.นครศรีธรรมราช และโครงการเกษตรวิชญา – ชุมชนบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่
คุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เผยว่า “แหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว” เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการ “ตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน” ในปีที่ผ่านมา ที่ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งยังได้รับกระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก ดังนั้นปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้สร้างกิจกรรมเพื่อต่อยอด โดยจะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการเผยแพร่ศาสตร์แห่งองค์ราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สู่สากล โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชา มาบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการเดินทางเพื่อเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางสู่ 55 เมืองรองทั่วประเทศไทย ยังเป็นการเผยแพร่ ศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติ
โดยเราได้เชิญคณะเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ กว่า 28 ประเทศ คือ ประเทศเคนยา, ศรีลังกา, คาซัคสถาน, เกาหลี, อียิปต์, สวีเดน, เนเธอร์แลนด์, สโลวาเกีย, ติมอร์เลสเต,โคลัมเบีย ,โปแลนด์, ตุรกี, ไนจีเรีย, มาเลเซีย, มองโกเลีย, ภูฏาน, นิวซีแลนด์, ไอร์แลนด์, อินเดีย, แคนาดา, ปานามา, โมร็อกโก, ฟิลิปปินส์, อาร์เมเนีย, ออสเตรีย, รัสเซีย, เปรู และชิลี เข้าร่วมเดินทางใน 5 เส้นทาง ซึ่งกิจกรรมนี้ได้รับการตอบรับจากคณะทูตจากประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี ”
นาง ไลลา อัมเหมด บาฮาเอลดิน (Mrs.Laila Ammed Bahaaeldin) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงความรู้สึกจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “มีความประทับใจที่ได้เข้าร่วมเดินทางท่องเที่ยวในโครงการตามรอยศาสตร์พระราชาฯในครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนเองคาดไม่ถึงว่าจะมีคนคิดโครงการดีๆ แบบนี้ และสามารถทำให้เป็นจริงจนประสบความสำเร็จ ตนเองได้เดินทางไปยังโครงการพระราชดำริ ในจังหวัดเชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่น่าทึ่งมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตร ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับประเทศอื่นๆได้ เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างทางภูมิภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำการเกษตรแบบขั้นบันได ซึ่งหากมีการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศนั้นๆ อยากให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เข้ามาท่องเที่ยวในสถานที่ตามรอยศาสตร์พระราชาฯ ซึ่งจะได้ประสบการณ์และการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น หากอยู่แต่ในเมืองหลวง ก็จะไม่ได้เห็นวิถีที่แท้จริงของความเป็นไทย”
นาย เจมส์ ลีโอนาด แอนเดอร์เซ็น (Mr.James Leonard Andersen) ผู้แทนเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ได้เดินทางไปท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา ที่ จ.ระยอง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ได้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยจริงๆ และได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ และได้ทดลองนวดสปาแบบพื้นบ้าน โดยการนำหินร้อนๆ มานวด เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยพบมาก่อน รู้สึกชอบ และประทับใจ จึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้มาท่องเที่ยวยังสถานที่แบบนี้ เชื่อว่าจะได้พบกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนการเที่ยวในกรุงเทพฯ หรือพัทยา สิ่งสำคัญคือ การได้ความรู้จากแหล่งท่องเที่ยวกลับไปด้วย”
นางสาว จูดิธ ไชล์เบอร์ (Ms.Judith Schildber) ผู้แทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐออสเตรีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ขอบคุณ ททท.ที่จัดโครงการฯ นี้ขึ้นมา ทำให้ตนเองได้เข้าไปสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวบ้านจริงๆ สถานที่ที่ได้เดินทางไปเป็นโครงการในพระราชดำริ จ.ระยองและ จ.นครศรีธรรมราช ประทับใจการทำสปาโคลน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกมากๆ มีความสุข เหมือนได้ปลดปล่อยความเครียด และรักษาสุขภาพไปด้วยในตัว ชาวบ้านในพื้นที่มีความเป็นมิตร และส่วนตัวแล้วมีความรู้สึกซาบซึ้งในพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในการทรงงานโครงการในพระราชดำริ ซึ่งมีการบริหารจัดการพื้นที่ของโครงการฯ ได้เป็นอย่างดี ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ร่วมกันได้ สร้างภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่ให้ชาวบ้านได้นำไปต่อยอดในการใช้ชีวิต จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้หันมาท่องเที่ยวยังสถานที่แบบนี้ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถสัมผัส หรือหาได้ตามหน้าเว็บไซต์ เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ และเป็นแนวคิดของพระราชาที่ให้ประชาชนได้อยู่ดี กินดี มีอาชีพทำกิน”
นาย ทุกสะบิลกุน ทูมูคูร์เลค (MR.TUGSBILGUUN TUMURKHULEG) เอกอัครราชทูต ประเทศมองโกเลีย ประจำประเทศไทย เปิดเผยหลังได้เข้าร่วมโครงการแหล่งท่องเที่ยวตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การเชื่อมโยงแอ่งท่องเที่ยวว่า “ตนเองได้เข้าร่วมกิจกรรมใน 2 จังหวัด
คือที่จังหวัดระยอง และจังหวัดเชียงใหม่ รู้สึกสนุก และดีใจมากที่ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ จากกิจกรรม และวัฒนธรรมแบบพื้นเมือง รวมไปถึงประทับใจในอาหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ เนื่องจากมีหลายๆ อย่างที่ตนเองไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน ซึ่งในทุกๆ กิจกรรม มีพื้นฐานมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานและปัจจัยหลักที่สำคัญมากๆ ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการใช้ชีวิตพอเพียง ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านได้นำมาจากทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่สร้างผลกำไรและรายได้ให้กับชาวบ้านเท่านั้น แต่มันเป็นการรักษารูปแบบชุมชนของพวกเขาให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยประสบการณ์ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประทับใจมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง เนื่องจากได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงปลา และการทำการเกษตรแบบผสมผสาน รวมไปถึงป่าชายเลน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ต่อตนเองมากๆ”
สำหรับกิจกรรมการลงพื้นที่ใน 5 เส้นทาง ของคณะทูตจาก 28 ประเทศ เป็นกิจกรรมที่จัดทำขั้นระหว่าง เดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน ที่ผ่านมา และมีการดำเนินการประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสาร หรือสนใจท่องเที่ยววิถีธรรมชาติตามรอยศาสตร์พระราชา สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.tourismthailand.org/kingwisdom