จังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัวกองทุน FLR349 ตามรอยศาสตร์พระราชา ได้ป่าฟื้นคืน ได้อาชีพยั่งยืน ได้อาหารปลอดภัย
วันที่ 27 กันยายน 2561 ร้านลำดีตี่ขัวแดง จ.เชียงใหม่ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) และภาคีภาคประชาสังคมร่วมเปิดตัวกองทุนฟื้นป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน “FLR349” หรือ “Forest Landscape Restoration Fund โดยมีนายไพรัช โตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองทุน FLR349 เป็นประธานกล่าวเปิดตัวกองทุน FLR349 นายอนุชา มีเกียรติชัยกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวแสดงความยินดี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
นายไพรัช โตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ
กองทุน FLR349 กล่าวว่า องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) และภาคีภาคประชาสังคมร่วมเปิดตัวกองทุนฟื้นป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน “FLR349” หรือ “Forest Landscape Restoration Fund ซึ่งน้อมนำการปลูกป่า3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 (FLR349) เป็นโมเดลแก้ปัญหาวงจรหนี้สินเกษตรกรและปัญหาระบบนิเวศป่าต้นน้ำถูกทำลาย มีกลไกสร้างแรงจูงใจ
โดยจ่ายเงินสนับสนุนและพัฒนาตลาดรับซื้ออาหารอินทรีย์ให้เกษตรกรยุติการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นน้ำเปลี่ยนมาสร้าง ป่าควบคู่กับการทำเกษตรเชิงนิเวศ เบื้องต้นเปิดโครงการนำร่องที่บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 26 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 130 ไร่ กองทุนจะสนับสนุนเกษตรกร ครอบครัวละ 5 ไร่ จำนวนเงิน 2,000 บาท ต่อไร่ต่อปี เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งเป้าเป็นทางเลือกโมเดลเรือธงในการแก้ปัญหา ได้ในทุกพื้นที่ต้นน้ำทั่วประเทศ
FLR349 เป็นโมเดลที่นำการขับเคลื่อนรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน (sustainable consumption and production patterns) มาใช้แก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีองค์กรจากภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้ง ประกอบด้วยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (BAAC) และมีองค์กรอื่น ๆ ร่วมเป็นภาคีสนับสนุน เช่น Agricultural and Food Marketing Association for Asia and the Pacific (AFMA) ที่เป็นองค์การระหว่างประเทศ (inter-government non-profit organization) พร้อมกับภาคีที่ให้การ สนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFCT) เป็นต้น
“กองทุน FLR349 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการวิธีการทำเกษตรจากการทำพืชเชิงเดี่ยวรุกป่าใช้เคมีสูง สู่การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง คือวิธีที่จะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการ แผ้วถาง ทำลายหน้าดิน ผ่านการปลูกและดูแลไม้ป่าถาวร ปลูกไม้ผล และพืชผัก สมุนไพรนานาชนิดแบบผสมผสาน เกื้อกูลฟื้นฟู สร้างระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน น้ำ และเอื้อต่อการผลิตอาหารที่หลากหลาย ปลอดภัยต่อการผลิต และบริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพ และสุขภาวะ ที่ฟื้นคืนกลับมา ทำให้สามารถก้าวพ้นจากวงจรหนี้สินและการถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมในห่วงโซ่ผลิตอาหาร”
นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวเสริมว่า “ความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของเราถูกแลกไปกับผลประโยชน์ของนายทุนที่ผูกขาดในระบบอาหาร และการปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าต้นน้ำส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่ได้นำมาซึ่งผลลัพธ์การเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงติดอยู่ใน วงจรหนี้สินและมีสภาพการเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ระบบเศรษฐกิจฐานรากและระบบอาหารท้องถิ่นก้าวสู่ภาวะล่มสลาย คือไม่สามารถ พึ่งพาตนเองได้
ซึ่งแสดงถึงทิศทางการพัฒนาที่ออกห่างจากความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มให้ภาคประชาสังคมลุกขึ้นมาหาทางออกให้กับปัญหา โมเดลกองทุน FLR349 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ มากกว่าเดิมอย่างน้อย 4 เท่าให้กับเกษตรกรเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และที่สำคัญคือการได้ฟื้นคืนระบบนิเวศป่าต้นน้ำ จึงเป็นโมเดลเรือธงสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและสร้างผลประโยชน์ร่วมกันตามแนวทางการพัฒนาสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (sustainable develop goals: SDGs)
“การปลูกไม้ป่ายืนต้นควบคู่กับการปลูกพืชอาหารที่หลากหลายและเป็นเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติปราศจากเคมี โดยผลผลิต พืชผักผลไม้อินทรีย์และผลิตภัณฑ์แปรรูปนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นการสร้างอาหารที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ สามารถ ลดค่าใช้จ่ายเกษตรกรในการยังชีพ และผลผลิตส่วนที่เหลือกินจะนำมาขายเป็นรายได้ โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นผู้รับซื้อ
โดยมีการวางแผนการตลาดและแผนผลิตล่วงหน้า และกำหนดราคาที่เป็นธรรม มีการจัดหาตลาดสินค้าเกษตรในพื้นที่ (local food chain market) ซึ่งรวมถึงโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหารในพื้นที่ และตลาดค้าปลีกในระดับประเทศ ซึ่งโมเดลนี้จะก่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษกิจฐานราก เงินหมุนเวียนในชุมชน และการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และอาจต่อยอด ถึงการพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย”
ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวเปิดตัวกองทุน FLR349 ยังมีการจัดเสวนาหัวข้อ “ชวนสังคมร่วมฟื้นป่า” ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม เอกชน และเกษตรกรในพื้นที่โครงการมาร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความคิดเห็น และในงานยังมีการจัดแสดงภาพถ่าย และผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากพื้นที่โครงการด้วยเช่นกัน ตั้งเป้าดำเนินงานต่อเนื่อง 5 ปีชุบชีวิตเกษตรกรภาคเหนือก่อนขยายผลสู่ทั่วประเทศ
นภาพร ขัติยะ/เชียงใหม่