“ชวรงค์” เสนอให้เครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ตั้งคณะกรรมการจริยธรรมภายในองค์กร (Ombudsman) เพื่อรับเรื่องร้องเรียนโดยตรงจากประชาชน เป็นการแก้ปัญหาและตรวจสอบกันเอง อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2560 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารประชาสัมพันธ์เขื่อนอุบลรัตน์ กฟผ. ต.เขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานเครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน เป็นประธานการประชุมสามัญ ประจำปี 2560 เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2560 โดยมี นายกนก ตั้งพูลผลวนิชย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-บริหาร กล่าวต้อนรับ และบรรยายพิเศษ แนะนำ ภารกิจ และการดำเนินงานของ กฟผ. และ นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ บรรยายพิเศษเรื่องกรอบอำนาจ หน้าที่ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการแจ้งรายงานสถานะทางการเงิน รายงานสถานภาพสมาชิกในปัจจุบัน การแต่งตั้งกรรมการบริหาร ที่ปรึกษา และประธานจังหวัด การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม การจัดทำปรับปรุง ทำเนียบสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน การจัดทำเว็บไซต์และเพจของเครือข่าย รวมทั้งผลการดำเนินงานร่วมกับสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น และการจัดกิจกรรมหารายได้ โดยมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในภาคอีสาน ผู้สังเกตการณ์ สื่อมวลชน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
พ.ท.พิสิษฐ์ ชาญเจริญ ประธานเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน กล่าวว่าการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุมสามัญ ประจำปี 2560 เครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ครั้งที่ 1/2560 ตามข้อบังคับฯ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารฯ ได้แถลงผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา แจ้งสถานะการเงิน สถานภาพสมาชิก และให้สมาชิกเครือข่าย บก.นสพ.ภาคอีสาน ได้พบปะพูดคุย วางแนวทางการดำเนินงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ สะท้อนบทบาทหน้าที่การทำงานของสื่ออย่างเป็นระบบภายใต้กรอบการทำงานที่มีการควบคุม กำกับดูแลกันเอง และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อย่างมุ่งหวังให้เกิดผลประโยชน์อย่างแท้จริงในการประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนต่อไป
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวบรรยายในหัวข้อเรื่องกรอบอำนาจ หน้าที่ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กรว่าการกำกับดูแลกันเอง ทางจริยธรรมในวิชาชีพสื่อมวลชนในกรณีสื่อหลักได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ พบปัญหาการกำกับดูแลกันเองภายใต้ความสมัครใจ มีการละเมิดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและปัญหาการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ เนื่องจากองค์กรวิชาชีพมิได้มีสถานะใดๆในกฎหมาย จึงไม่มีอำนาจในการลงโทษ (Sanction) ผู้ประกอบวิชาชีพที่กระทำการขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพ ที่ได้ร่วมกันกำหนดขึ้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ ไม่ใช่สภาวิชาชีพหรือคณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย นอกจากองค์กรวิชาชีพไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่สมาชิก สมาชิกที่ถูกตัดสินว่าทำผิดมาตรฐานจริยธรรม ก็สามารถที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าว และลาออกจากองค์กรวิชาชีพได้ และคณะกรรมการองค์กรวิชาชีพหลีกเลี่ยงการตัดสินชี้ผิดถูก เพราะเป็นผู้ประกอบการสื่อด้วยกันทำให้เกิดปัญหาตามมาในการดูแลสื่อด้วยกันเอง
อีกทั้งองค์กรวิชาชีพในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ยังมีบทบาทน้อยในด้านการคุ้มครองแก่สมาชิก ในเรื่องของสวัสดิภาพและสวัสดิการ และการเปิดช่องทางในการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือร้องเรียนในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องเหมาะสม ส่วนกิจกรรมที่องค์กรและวิชาชีพสื่อในกลุ่มสื่อวิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่น เคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม และสื่อออนไลน์ ยังไม่ค่อยทำนักคือ กิจกรรมในเรื่องการรับเรื่องราวร้องทุกข์หรือร้องเรียนจากผู้บริโภค ในกรณีผู้ประกอบวิชาชีพมีการปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม หรือละเมิดหลักจริยธรรมและกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของผลงานสื่อมวลชน
ดังนั้นการสร้างกลไกพัฒนามาตรฐานจริยธรรมในการกำกับดูแลตนเองทางด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาวิชาชีพสื่อมวลชน โดยคำนึงถึงความแตกต่างทั้งมิติ ประเภท หรือรูปแบบของเนื้อหา มิติประเภทของสื่อ และมิติระดับการครอบคลุมของการประกอบการ อีกทั้งมีกลไกส่งเสริมการกำกับดูแลตนเองด้านจริยธรรมขององค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีในการทำงานของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์ http://www.siamfocustimenews.com