สระบุรีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 100 คนยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ….
วันนี้(26 มิ.ย.2560)ทีบริเวณศูนย์ดำรงธรรมศษลากลางจังหวัดสระบุรี กลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยและคาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ…. ประมาณ 100 คน นำโดยนายพีระ จึงธีรพานิช เข้ายื่นหนังสือต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เพื่อยื่นคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ร่ารงพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อาจจะนำไปสู่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตป่า และประกอบอาชีพ
นายพีระ จึงธีรพานิช กล่าวว่า เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ กำลังดำเนินการออก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ รวมไปถึงสัตว์ป่าสายพันธุ์ต่างประเทศ(CITES) ที่ไม่ได้มีถิ่นอาศัยในประเทศไทย โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้ ไม่อนุญาตให้เลี้ยง ครอบครอง ทำการค้า และเพาะพันธ์สัตว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคลคล เนื่องจากสัตว์เหล่านี้นำเข้ามาในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และสามารถเลี้ยงครอบครองได้มาหลายสิบปี ประเด็นสำคัญ คือหัวข้อตามมาตรา 8 ,มาตรา 15,มาตรา 21, มาตรา 23 ที่การดำเนินงานต้องผ่านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ การดำเนินการจะเกิดขั้นตอนและยุ่งยากมากขึ้นเพราะทุกอย่างต้องผ่านอธิบดีหมดใช้เวลานานในการดำเนินงานเรื่องเอกสาร อาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์
ทั้งนี้ทางกลุ่มพี่น้องประชาชนเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขียนโดยผู้ประกอบการหรือผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งไม่ทราบเรื่อง และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียมาเป็นผู้ร่าง จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่ประกอบกิจการ หรือผู้ที่เลี้ยงและประกอบอาชีพขายสัตว์เลี้ยง ซึ่งพวกตนเห็นว่าหากจะร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ตนจึงอยากฝากหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวและต้องการให้นายกรัฐมนตรีเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งนายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้มอบหมายให้ นายชรัส บุญณะสะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมพันเอกเพิ่มศักดิ์ ขุนโขลน รอง ผอ.กอ.รมน.สระบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มชาวบ้าน
โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้มีบทบัญญัติสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) เพื่อให้รองรับสิทธิของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการคุ้มครอง ดูแล รักษาหรือบำรุงทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าอันได้มาโดยการกระทำความผิด และแก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้ครอบคลุมถึงการนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าสงวนหรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง/
ภาพ/ข่าว/ดำรงค์ ชื่นจินดา
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์ http://www.siamfocustimenews.com