กรมตรวจฯขับเคลื่อนโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ

กรมตรวจฯขับเคลื่อนโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ  เร่งสอนแนะทำบัญชีแก่เกษตรกร เพื่อความโปร่งใส

 

จากการที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักการทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานไว้เป็นแนวทางในการพัฒนาภาคเกษตรและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ( ศพก) เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางการเกษตรของชุมชนและเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรในระดับพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งมีหลักการสำคัญคือให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดโครงการภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแล้ว ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการทำงานพื้นที่ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ ผ่านกระบวนการคิด วิเคราะห์และนำไปปฏิบัติจริง ทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาให้เหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน อันจะส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายพื้นที่ 9101 ชุมชน เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการชุมชนละ 500 ราย ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ผ่านคัดเลือกจากคณะกรรมการและชุมชนให้ความเห็นชอบแล้ว

นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทตั้งใจ ในการสนับสนุนให้เกษตรกรเดินตามแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นการพัฒนาอาชีพเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ซึ่งในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์นั้น ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการให้คำแนะนำการจัดทำบัญชีโครงการแก่ผู้จัดทำบัญชีของกลุ่มสมาชิกในชุมชน พร้อมทั้งการตรวจสอบบัญชีโครงการ โดยเริ่มตั้งแต่ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะในการจัดทำบัญชีการใช้จ่ายงบประมาณตามกิจกรรมโครงการอย่างถูกต้อง การกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการทำบัญชีให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะ เพื่อให้มีการแก้ไข พร้อมทั้งรายงานผลการตรวจสอบให้สำนักงานเกษตรจังหวัดในพื้นที่ได้ทราบต่อไป

“โครงการ 9101 เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และให้ชุมชนทุกคนมีส่วนร่วมในการพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่คนในชุมชนต้องการ จากนั้นรัฐบาลก็ให้เงินมาช่วยเหลือ ทีนี้เมื่อมีโครงการฯนี้ขึ้นมา ก็ต้องมีการทำกิจกรรมในระหว่างดำเนินโครงการนี้ แล้วงบประมาณที่รัฐบาลให้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นจะมีอะไรที่แสดงให้เห็นหรือยืนยันได้ว่ามีการใช้งบประมาณนั้นอย่างโปร่งใส สิ่งเดียวที่จะแสดงให้เห็นได้นั่นก็คือการทำบัญชี ซึ่งตรงนี้ทางกรมตรวจฯ ได้รับมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงไปในชุมชนเพื่อทำการสอนทำบัญชีรับ-จ่าย ภายหลังจากที่เกษตรกรได้รับเงินไปแล้ว ซึ่งเงินตัวนี้จะต้องนำไปกระจายในการซื้อวัสดุต่างๆ ในการทำโครงการ ต้องจ่ายค่าแรงให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และต้องลงบัญชีทุกอย่างจนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ”อธิบดีกรมตรวจฯกล่าว

อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการสอนให้ทำบัญชีแล้ว ทางกรมตรวจฯยังต้องมาดูอีกว่าเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น ลงบัญชีได้อย่างถูกต้องหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ต้องการให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและทั่วถึง

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเห็นได้ว่า เมื่อเราทำเกษตรแล้วนั้น เรามีรายได้เหลือเท่าไหร่ ลงทุนไปเท่าไหร่ ต้นทุนเท่าไหร่ กำไรหรือขาดทุน ตราบใดที่เราไม่รู้เรื่องการลงทุนเลยว่าลงทุนอะไร เท่าไหร่ ก็จะทำให้การทำเกษตรนั้นเสียหายและตามมาด้วยการมีหนี้สินได้ แต่ถ้ามีการจดบันทึกบัญชี เราจะรู้ตลอดเวลาเลยว่าเราใช้จ่ายอะไรลงไป แล้วรายได้ที่กลับมานั้นคุ้มหรือไม่กับสิ่งที่เราใช้จ่ายไป แล้วควรจะทำยังไงให้มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพื่อให้เรามีเงินออม เอาไว้ใช้ในยามจำเป็น ทำบัญชีไม่ใช่เรื่องยากเรามีครูบัญชี อยู่ประจำศูนย์ศพก.ทั่วประเทศ ถ้าอยากเริ่มต้นทำบัญชี ท่านก็มาหาครูบัญชีที่อยู่ในพื้นที่ได้เลย”นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์กล่าวในตอนท้าย

. อนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ลงพื้นที่ในโครงการฯที่จังหวัดลำปาง พร้อมคณะสื่อมวลชนเพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของกรมตรวจฯในด้านสอนแนะการทำบัญชีให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในชุมชนที่ 21 ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนตามโครงการ9101ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดลำปางมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 125 ชุมชน 437 โครงการและชุมชนที่ 21 แห่งนี้ ได้รับงบประมาณทั้งหมดเป็นเงิน 2,050,000.00 บาท และมีโครงการ 7 โครงการด้วยกันคือ โครงการปลูกดอกดาวเรือง ,โครงการเพาะเห็ดนางฟ้า ,โครงการเลี้ยงปลานิล ,โครงการเลี้ยงเป็ด-ไก่ ,โครงการเลี้ยงกบในกระชัง, โรงสีข้าวขนาดเล็ก และโครงการเลี้ยงปลาดุก โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ลำปางได้เข้าไปแนะนำการบันทึกบัญชีให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ชุมชนสามารถบันทึกบัญชีการใช้จ่ายเงินงบประมาณตามกิจกรรมโครงการได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้

ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้บอกถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า“รู้สึกขอบคุณรัฐบาลเป็นอย่างมาก ที่เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรและเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้คิดเอง ทำเอง แล้วก็มีงบประมาณมาให้ในการพัฒนาอาชีพตามแนวทางที่พวกเราเลือกเองตามความถนัด ทำให้เกิดการจ้างงานในชุมชนอีก ซึ่งถือว่าโครงการฯนี้ดีมากๆเลยครับ ” สมาชิกชุมชน 21 เล่าด้วยรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความหวัง

จรัส พิบูลย์ปุญญโชติ / รายงาน

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์   http://www.siamfocustimenews.com

Related posts