วช.สนองนโยบายรัฐบาล พัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อย
จากนโยบายของรัฐบาลข้อ ๘ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาของประเทศเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และจัดระบบบริหารงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพโดยให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเอกชน เร่งสร้างสังคมนวัตกรรม และปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจต่อการนำงานวิจัยและพัฒนาไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ได้จริง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดสรรงบประมาณการวิจัยให้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการบริหารจัดการสนับสนุนการทำวิจัย ตามแผนงานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน : กลุ่มเรื่องมันสำปะหลัง ตั้งแต่งบประมาณ ๒๕๕๕ ซึ่งได้สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยแก่โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเครื่องสับมันปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อย” ของ นายจรูญศักดิ์ สมพงศ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ในการพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลัง เนื่องจากกระบวนการผลิตมันเส้นที่สะอาดจะต้องตัดเหง้าและทำความสะอาด และลดความชื้นโดยการตากแดด การลดขนาดของหัวมันเกษตรกรนิยมใช้มีดสับมันเสี่ยงต่ออันตราย และหากใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ชิ้นมันที่ได้จะใหญ่และตากไม่แห้ง เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา นอกจากนี้เครื่องสับมันและเครื่องทำความสะอาดไม่ได้ทำงานต่อเนื่องในชุดเดียวกันทำให้เพิ่มขั้นตอนในการทำงานและค่าใช้จ่าย จึงไม่เหมาะกับเกษตรกรรายย่อย ดังนั้นการพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังนี้จึงเป็นการพัฒนาเครื่องสับหัวมันสำปะหลังที่ประกอบด้วย ๒ ส่วนหลัก คือ ชุดทำความสะอาด และชุดสับหัวมันสำปะหลัง เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และอันตราย รวมถึงลดค่าใช้จ่าย และการเสียหายของผลผลิต ด้วยเครื่องขนาดเล็ก ดูแลรักษาง่าย สามารถขนย้ายและติดตั้งได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยของไทยได้ดีขึ้น
ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องทำความสะอาดมันสำปะหลัง ทรงกระบอกมีรูขนาด ๑ นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของตะแกรง ๐.๗๕๙ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร ซึ่งสามารถป้อนมันสำปะหลังเข้าไปในตะแกรงที่มีปริมาตร ๔๐% ของปริมาตรตะแกรง และหมุนความเร็วรอบ ๑๕ รอบต่อนาที ประมาณ ๑๐ นาที โดยใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ๑/๒ แรงม้า ความเร็วรอบ ๑,๔๕๐ รอบต่อนาที สามารถทำความสะอาดมันสำปะหลังด้วยอัตรา ๑,๐๔๕ กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ ๘,๓๖๒ ตันต่อวัน ในส่วนของเครื่องสับมันสำปะหลัง จะป้อนมันสำปะหลังเข้าทางบนของตัวเครื่อง หัวมันสำปะหลังจะปะทะเข้ากับจานรูปทรงกรวยแบน เพื่อกระจายสู่ช่องป้อน ๔ ช่องแต่ละช่องจะทำมุม ๗๕ องศากับแนวระดับ และจากการทดสอบการตัดหัวมันด้วยหลักการของเพนดูลัม พบว่า มุมของใบมีดที่เหมาะสม คือ ๓๐ องศา มาการตัดที่เหมาะสม คือ ๗๕ องศา และความเร็วของใบมีดที่เหมาะสม คือ ๔.๓๔ m/s ซึ่งหัวมันสำปะหลังจะถูกตัดภายในช่องป้อนที่ระยะ ๓๐ เซนติเมตร จากจุดหมุนใบมีดสับ ทำให้ตัดด้วยพลังงานต่ำสุด โดยเครื่องสับมันสำปะหลังใช้ต้นกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด ๒ แรงม้า ความเร็วรอบ ๑,๔๕๐ รอบต่อนาที การทำงานของเครื่องสามารถสับมันด้วยอัตรา ๑,๓๑๐ กิโลกรัมต่อชั่วโมง หรือ ๑๐,๔๗ ตันต่อวัน ที่ความหนาชิ้นมันประมาณ ๑๐.๔ มิลลิเมตร
การพัฒนาเครื่องสับมันสำปะหลังสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่พัฒนาแล้วนี้ เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่จะช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน แรงงาน เวลา และค่าใช้จ่าย และที่สำคัญจะช่วยรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินให้กับเกษตรกรผู้ใช้ที่จะต้องไปเสี่ยงกับการใช้เครื่องสับมันสำปะหลังขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์ http://www.siamfocustimenews.com