ปทุมธานี เจ้าคณะจังหวัดส่งเสริมรำมอญถวายเป็นพระราชกุศลในหลวง ร.๙ (ชมคลิปคลิกเลย)

ปทุมธานี เจ้าคณะจังหวัดส่งเสริมรำมอญถวายเป็นพระราชกุศลในหลวง ร.๙

 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 พระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์ โชตินธโร) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี รำมอญ โดยมอบหมายให้ นางธิติณัฏฐ์ พิณพาทย์ ประธานชมรมปี่พาทย์มอญและศิลปะการแสดงจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นจิตอาสาฝึกซ้อมรำมอญ จำนวน 100 คน เพื่อแสดงถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดยการฝึกซ้อมรำมอญเพื่อแสดงถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะแสดงในวันที่ 13 ตุลาคม 2560 ที่ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ในชื่อรำมอญจังหวัดปทุมธานี ชุด นพรามัญ มีผู้แสดง 48 คน มีบรรเลงฆ้องวง 9 โค้ง ส่วนวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ใช้เพลงสิบสองภาษา มีทั้งหมด 13 เพลง 13 ท่ารำ ชุดรำมอญปทุมธานี มีผู้แสดง 100 คน บรรเลงฆ้องวง 100 โค้ง เพื่อถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้านด้านการรำมอญซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณี เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดปทุมธานีต่อไป ซึ่งชาวไทยเชื้อสายมอญได้อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย เช่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และราชบุรี

ด้าน พระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์ โชตินธโร) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า คณะสงฆ์จังหวัดเห็นชอบที่จะให้มีการรำมอญถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องจากการรำมอญเป็นประเพณีศิลปะของเมืองปทุมธานีชาวรามัญ ต้องรักษาไว้ให้เป็นคู่กับเมืองปทุมธานี ตอนนี้ได้มีการซักซ้อมที่จะรำถวายในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ มีนางรำ 100 คน พร้อมจัดให้มีปี่พาทย์มอญ 100 โค้ง จะแสดงพร้อมกันที่มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี หลังจากที่วางดอกไม้จันทน์แล้วในช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ถือว่าเป็นมหกรรมมอญรำครั้งใหญ่ที่สุดของเมืองปทุมธานี พร้อมดนตรีไทยครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อถวายให้กับพระองค์ท่าน
นางธิติณัฏฐ์ พิณพาทย์ ประธานชมรมปี่พาทย์มอญและศิลปะการแสดงจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า อดีตนักแสดงรำมอญในวงปี่พาทย์มอญของคุณพ่อเชาว์ พิณพาทย์ มีจิตอาสาถ่ายทอดศิลปะท้องถิ่นด้านการแสดงรำมอญ ปทุมธานี ให้กับคณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดเขียนเขตจำนวน 100 คน เพื่อเตรียมรำถวายในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเพื่อถ่ายทอดศิลปพื้นบ้านด้านการรำมอญซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงามของชาวปทุมธานี ให้มีผู้สืบทอดต่อ ไม่สูญหายไปตามยุคสมัย และให้เป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวจังหวัดปทุมธานี

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ รายงาน

Related posts