นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำผู้เสียหาย กว่า 30 คน จากคดีแชร์ลูกโซ่หลายคดี อาทิ แชร์ออมทองบ้านมิลิน แชร์คอร์สสัมมนา แชร์น้ำมันตะเกียง แชร์ลูกโซ่ออนไลน์บ้านน้องไอซ์ เป็นต้น เดินทางเข้าร้อง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอการปราบปรามแชร์ลูกโซ่ให้หมดจากสังคมไทย 5 ข้อ เพราะปัญหาแชร์ลูกโซ่ ถ้าไม่ทำทั้งระบบ แก้ไม่จบ เพราะ สุดท้ายเหยื่อผันตัวเองเป็นโจรเสียเอง ซึ่งนับว่าเป็นภัยต่อสังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงของไทย
นายสามารถ กล่าวว่า จากการที่มีกลุ่มประชาชนผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อสมาพันธ์ฯ ว่า ถูกหลอกให้ลงทุนออมทองในบ้านชื่อ บ้านมิลิน โดย เสนอให้ผลตอบแทนเป็นราย 3 วัน เรียกว่า แชร์บ้านกินดอก และ รายเดือน โดยจะเรียกว่า รายขั้นบันได โดยจะเสนอผลตอบแทนให้ร้อยละ 10% ต่อ 3 วัน จึงทำให้ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อไม่ต่ำกว่า 200 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท
หลังสืบทราบเบื้องต้น พบท้าวแชร์ ยังเป็นเด็กอายุเพียง 18 ปี แต่ ได้มีการฉ้อโกงประชาชนไปแล้วกว่า 200 คน โดยผู้เสียหายได้มีการแจ้งความไว้แล้ว ในหลายพื้นที่ ตอนนี้เรื่องนี้ทางกองบังคับการนครบาล 4 ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว คาดว่าจะได้ตัวผู้ต้องหาเร็วๆนี้ การที่ผู้เสียหายเดินทางมาที่ ปปง. วันนี้เพื่อให้ติดตามทรัพย์สิน ของผู้เสียหายมาให้ได้มากที่สุด ในพระราชบัญญัติ ป้องกันและ ปราบปรามการฟอกเงิน
ตนเองอยากให้รัฐบาลมีมาตรการเชิงรุกในการปราบปรามแชร์ลูกโซ่ เพราะอาชญากรรมดังกล่าว ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยมาตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน ที่ประเทศชาติต้องเสียหายนับแสนล้านบาท และทำลายครั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงประเทศ ถือเป็นภัยร้ายทำลายชาติอย่างแท้จริง วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ผู้เสียหาย และ ประชาชนคนไทยต้องลุกขี้นมา“ขออาสาทำความดีด้วยหัวใจ อุทิศให้เพื่อแผ่นดิน” เพราะจากข้อมูลที่ได้รับร้องทุกข์จากผู้เสียหาย จะเห็นได้ว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์หลอกลวงแชร์ลูกโซ่ หรือ กลโกงแบบลูกโซ่ นั้น กว่าผู้เสียหายจะร้องทุกข์คือแชร์ล้ม แล้ว บริษัทปิดแล้ว ผู้เสียหายจาก 100 % จะมีผู้เสียหายแค่ 10% เข้าแจ้งความร้องทุกข์เท่านั้น เพราะปัญหาการแจ้งความในประเทศไทยทำได้ด้วยความยากลำบากดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐบาลมีการแก้ไขปัญหาดังต่อไปนี้
1. ให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพิ่มโทษผู้กระทำความผิดในฐานฉ้อโกงประชาชน ที่แต่เดิมมีอัตราโทษเพียงแค่ 3-5 ปีเป็น 7-14 ปี เพื่อทำให้มิจฉาชีพติดคุกอย่างต่ำ 50 ปี เพื่อทำให้มิจฉาชีพเกรงกลัวกฎหมายและไม่กล้าทำความผิดแบบนี้อีก”
2. ภาครัฐควรมีหน่วยงานลักษณะ “One Stop Service บริการแบบเบ็ดเสร็จรับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อในธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงโดยเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนไม่ทราบที่แจ้งความอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ต้องมีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ มีเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ทุกวัน”
3.รัฐบาลควรมีปฏิบัติการเชิงรุก มีกระบวนการเยียวยาผู้เสียหายให้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการสร้างการรับรู้ แสวงหาตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิดที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่หรือฉ้อโกงประชาชน ไม่รอให้เกิดความเสียหายจำนวนมหาศาลขึ้นก่อน
4.ต้องคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่ทุกคดี เพื่อให้มิจฉาชีพเกรงกลัวต่อกฏหมายที่ผ่านมา ให้ประกันตัวก็หลบหนี หรือไม่ก็ไปหลอกลวงคนอื่นซ้ำอีก เพราะไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษ มีให้เห็นมาแล้วคดีเติมเงินมือถือ และ ในอดีตผ่านมาเช่นคดีแชร์บลิสเชอร์
5.ต้องมีเจ้าภาพทำคดีล้มละลาย เพราะทุกวันนี้ไม่มีใครทำสำนวนฟ้องล้มละลาย จึงทำให้คดีล่าช้า ใช้เวลายาวนานถึง 30 ปี กว่าจะได้รับเงินคืน เช่นคดีแชร์แม่นกแก้ว ที่ผู้เสียหายแจ้งความเมื่อปี พ.ศ.2530 แต่เพิ่งได้รับเงินคืนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา