สวทช. ร่วมกับ สถานทูตอิสราเอล จัดสัมมนาถอดบทเรียนความสำเร็จระดับโลก เพื่อพัฒนามะเขือเทศไทย

สวทช. ร่วมกับ สถานทูตอิสราเอล จัดสัมมนาถอดบทเรียนความสำเร็จระดับโลก เพื่อพัฒนามะเขือเทศไทย

 

เมื่อวันที่1 พ.ย. 60ที่ผ่านมา
ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (สท.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการ “The Thai-Israeli Tomato Conference: The current status and the way forward” เพื่อบรรยายให้ความรู้ในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์และการปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือน จากประสบการณ์ของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งอิสราเอลและไทย แก่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 90 คนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถของการปรับปรุงพันธุ์ การผลิตผลสด และเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศของประเทศไทย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ตลอดจนการแสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งในด้านการวิจัยและการค้าระหว่างกันต่อไป โดยมี ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม (H.E. Dr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน

 

ดร.มรกต ตันติเจริญ ประธานคลัสเตอร์เกษตรและอาหาร และที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าวว่า มะเขือเทศเป็นพืชที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นเมือง และพันธุ์ลูกผสม สามารถเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของประเทศไทย และความเหมาะสมของการนำไปใช้ เช่น การรับประทานสด การแปรรูป และการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย ปัจจุบันมีความต้องการบริโภคมะเขือเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคมะเขือเทศบางชนิดเปลี่ยนเป็นการรับประทานในรูปแบบอาหารว่างเช่นเดียวกับผลไม้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของการปลูกมะเขือเทศในประเทศไทย ได้แก่ 1) เป็นโรคที่มีแมลงเข้าทำลายมาก เช่น โรคใบไหม้ โรคผลเน่า 2) ข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในบางพื้นที่ ต้องใช้ต้นทุนสูงในการดูแลรักษา และ 3) เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เป็นต้น โดยแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ได้แก่ ใช้เทคโนโลยีด้านปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ลดต้นทุนการผลิต ปลูกในโรงเรือนหรือกรีนเฮ้าส์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับฤดูกาลและภูมิภาคต่างๆ

 

ประเทศอิสราเอลแม้จะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก แต่กลับมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศและการปลูกพืชในระบบโรงเรือนในลำดับต้นๆ ของโลก ความสามารถดังกล่าวของอิสราเอลเกิดจากการวิจัยและพัฒนาที่มีแนวคิด “การปลูกเพื่อให้ได้ (ผลผลิต) มาก ด้วยปัจจัยการผลิตที่น้อย” จึงประสบความสำเร็จครองส่วนแบ่งตลาดมะเขือเทศในตลาดโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานพันธมิตรระหว่างไทยและอิสราเอล ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน จัดงานสัมมนาวิชาการ “The Thai-Israeli Tomato Conference: The current status and the way forward” ขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในการรับฟังการบรรยายด้านการปรับปรุงพันธุ์และการปลูกมะเขือเทศในระบบโรงเรือน จากประสบการณ์ของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งฝ่ายอิสราเอลและฝ่ายไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถของการปรับปรุงพันธุ์ การผลิตผลสด และเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศของประเทศไทย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ตลอดจนการแสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งในด้านการวิจัยและการค้าระหว่างกันต่อไป

 

“งานสัมมนาวิชาการดังกล่าว เกิดขึ้นได้จาก สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (สท.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และหน่วยงานพันธมิตรได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท New Grow Plant และ Noga AgroTech Desert Agriculture ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมความร่วมมือตามแนวนโยบายการทูตเชิงวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นกลไกการสนับสนุน โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน ตามสาขาวิชาที่เป็นความสนใจของทั้งไทยและอิสราเอล รวมทั้งที่เป็นวาระสำคัญระดับนานาชาติ อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ซึ่งระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรอิสราเอล ได้จัดกิจกรรมที่เป็นการสัมมนาวิชาการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการบรรยายพิเศษ รวม 17 กิจกรรม ซึ่งในปีที่ 9 ของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือนี้ เรามุ่งหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร” ดร.มรกต ตันติเจริญ กล่าวเสริม

 

ทั้งนี้ ในงานสัมมนาประกอบด้วยหัวข้อบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากอิสราเอลและไทยในหลายหัวข้อ ได้แก่ การวางแผนและออกแบบโรงเรือนเพาะชำและโรงเรือนกระจกเพื่อผลิตมะเขือเทศ: เทคโนโลยีจากอิสราเอลยังประเทศอาเซียน โดย Dr. Nir Atzmon (นีล อัทซมอน) จากบริษัท New Grow Plant / ภาพรวมมะเขือเทศที่กำลังเติบโตในอิสราเอล การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในมะเขือเทศ และโครงการปรับปรุงพันธุ์ของ Noga AgroTech Desert Agriculture ที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการเพาะปลูก โดย Dr. Avner Levy (อัฟเนอร์ เลวี่) จาก Noga AgroTech Desert Agriculture / โครงการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศและเทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยโรคของไบโอเทคและโอกาสทำงานร่วมกัน โดย ดร.อรวรรณ ชัชวาลการพาณิชย์ นักวิจัยไบโอเทค สวทช. / โครงการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและโอกาสทำงานร่วมกัน โดย ศ.ดร.สุชีลา เตชะวงค์เสถียร มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปิดท้ายด้วยหัวข้อกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์และเพื่อการค้าต่างๆ ของมะเขือเทศ พริก และพืชอื่นๆ โดย Mr. Guy Don (กาย ดอน) จาก G.D. Quality Seeds

 

Related posts