เพชรบูรณ์ – อำเภอหล่มเก่าแถลงข่าวจัดงาน “วัฒนธรรมไทหล่ม ขนมเส้นหล่มเก่า” ปี 2560

เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2560 ที่ผ่าน “ นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอหล่มเก่าพร้อมด้วยนางวาสนา ธีรนิติ นายกเทศมนตรีตำบลหล่มเก่า นายวิโรจน์ เข็มเหล็ก ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน”วัฒนธรรมไทหล่ม ขนมเส้นหล่มเก่า และเทศกาลอาหารสะอาดรสชาติอร่อย” ครั้งที่ 20 ปี 2560 ณ สำนักงานเทศบาลตำบลหล่มเก่า

นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ นายอำเภอหล่มเก่า กล่าวว่า ขนมเส้น (ขนมจีน) หล่มเก่า เป็นอาหารอย่างหนึ่งของชนเผ่าไทย โดยเฉพาะชาวไทยพวน  กำหนดขึ้นมาเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่า เริ่มแรกจะเป็นขนมเส้นน้ำยาและมีสภาพเหมือนขนมเส้นทั่วไป  แต่เมื่อจัดทำถวายกษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง จะทำขนมเส้นให้เส้นเล็กลง และขนาดก้อนพอคำ ไม่ทำเส้นหยาบก้อนใหญ่เหมือนที่ขายทั่วไป  ต่อมาในบางครั้งเมื่อเกิดความเร่งด่วน และขาดมะพร้าวก็ต้มน้ำปลาร้าและไม่ใส่กะทิจึงเกิดเป็นน้ำปลาร้าขึ้นอีก  ในขณะเดียวกันในทางภาคกลางจะนำขนมเส้นที่เรียกว่า “น้ำพริก” ซึ่งมีรสหวานเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปแม่ค้าขนมเส้นอำเภอหล่มเก่า จึงจัดทำขนมเส้นที่มีเส้นเล็กเหนียว ขนาดเส้นขนมเส้นพอคำ

และเพื่อเอาใจลูกค้า จึงจัดทำน้ำขนมเส้นไว้บริการลูกค้าหลายชนิดไว้ให้ลูกค้าเลือกตักผสมขนมเส้นได้ตามใจชอบเช่น น้ำยา(ใส่กะทิ) น้ำยาป่า (ไม่ใส่กะทิ) น้ำปลาร้า (ไม่ใส่กะทิ) น้ำพริก (ใส่กะทิมีรสหวาน) ซึ่งมีสูตรเฉพาะมีรสอร่อยถูกปากผู้รับประทานและเนื่องจากหล่มเก่าเคยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มีผักมากมายจึงจัดผักชนิดต่างๆไว้เป็นถาด ขาดเหลือเพิ่มเติมได้ ราคาไม่แพง เท่ากับราคาก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม จึงทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษของอำเภอหล่มเก่า เรียกว่าขนมเส้นหล่มเก่าสืบทอดกันมา และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย

“งานเทศกาลขนมจีน และของดีหล่มเก่า”  เกิดจากแนวคิดของ นายจิรายุทธ วัจนะรัตน์  นายอำเภอหล่มเก่า (ตำแหน่งในขณะนั้น พ.ศ.2541)   ที่ต้องการขานรับปีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ให้จังหวัดเพชรบูรณ์  จัดปี Amazing  Thailand ซึ่งต่อมาปี 2551 ได้เปลี่ยนเป็น“งานวัฒนธรรมไทหล่ม ขนมเส้นหล่มเก่า และเทศกาลอาหารสะอาด รสชาติอร่อย” จนถึงปัจจุบัน

ด้านนางวาสนา ธีรนิติ นายกเทศมนตรีตำบลหล่มเก่า กล่าวว่าการจัดงาน “วัฒนธรรมไทหล่ม ขนมเส้นหล่มเก่า และเทศกาลอาหารสะอาดรสชาติอร่อยครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่  20 ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จะเน้นเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีพื้นบ้านไทหล่ม  ซึ่งจะทำให้ประชาชนทั้งในจังหวัดเพชรบูรณ์และต่างจังหวัด ได้มีโอกาสสัมผัสวัฒนธรรมและวิถีพื้นบ้านชาวไทหล่ม  นอกจากเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของอำเภอหล่มเก่า ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักแล้ว ยังส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาคของประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีการออกร้านขนมเส้น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย สำหรับกิจกรรมที่สำคัญ ๆระหว่างการจัดงานตั้งแต่วันที่ 14-16กุมภาพันธ์  2560 ประกอบด้วย พิธีนมัสการกราบไหว้หลวงพ่อใหญ่วัดตาล และบวงสรวงเจ้าแม่เข็มทอง ซึ่งจัดให้มีขึ้นในภาคเช้า  การแสดงเปิดงาน “ฟ้อนถวายอาลัย”  การแข่งขันการบีบขนมเส้นยาวที่สุดและการแข่งขันการตำซั่วในภาคกลางวัน การประกวดร้องเพลงพระราชนิพนธ์  การประกวดมารยาทไทย และการประกวดผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่านการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ   การจัดนิทรรศการด้านการเกษตรพอเพียงและลานวัฒนธรรม  การออกร้านขนมเส้น และการออกร้านหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) การจัดกิจกรรมเทศกาลอาหารสะอาดรสชาติอร่อย

การจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวรู้จักอำเภอหล่มเก่าและจังหวัดเพชรบูรณ์ดียิ่งขึ้นแล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน ในภาพรวม คือ การสร้างรายได้แก่ชุมชนในท้องถิ่นจากการจำหน่ายขนมเส้น อาหารอร่อย  สินค้าอื่นๆ ตลอดจนสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามยุทธศาสตร์จังหวัดเพชรบูรณ์อีกด้วย

 

ข้อมูลภาพ/ข่าว  มนสิชา  คล้ายแก้ว    เพชรบูรณ์

Related posts