กระบี่ – เกษตรจังหวัด แนะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรคปาล์มน้ำมันหลังน้ำลด

นายชำนาญ  นุ่นดำ  หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่  เปิดเผยว่า  จากที่หลายพื้นที่ในจังหวัดกระบี่ประสบอุทกภัย  ซึ่งขณะนี้แม้ว่าน้ำได้ลดแล้วแต่ก็ยังมีผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตรที่ถูกน้ำท่วมขังในช่วงที่ผ่านมา  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน  ยางพารา  หรือพืชอื่นๆ  สำหรับปาล์มน้ำมันแล้วหลังจากผ่านสภาพน้ำท่วมขัง หรือฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน  จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดยอดเน่า  โรคทะลายเน่า  และโรครากเน่า

จึงขอแนะนำให้เกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าในการป้องกันโรคดังกล่าว  โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมกับรำละเอียด  4 – 10 กิโลกรัม นำไปผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยอินทรีย์ 50 – 100 กิโลกรัม  ใช้หว่านรอบโคนต้นปาล์มในอัตราต้นละ 3 – 6 กิโลกรัม  วิธีการนี้นอกจากจะช่วยป้องกันการระบาดของเชื้อราสาเหตุโรคดังกล่าวแล้ว  ปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์ม่ายังช่วยปรับโครงสร้างของดินหลังน้ำท่วมให้ดีขึ้นด้วย

หรืออีกวิธีโดยการผสมน้ำฉีดพ่นหรือราดลงดิน  โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 100 ลิตร   คนให้เข้ากันแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นหรือราดลงดิน   ก็สามารถเพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด

 

นอกจากนี้ควรตัดแต่งทางใบปาล์มน้ำมันที่ได้รับความเสียหาย และตัดแต่งเอาทะลายปาล์มที่เน่าออกจากแปลงเพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรคพืช

สำหรับเชื้อราไตรโคเดอร์ม่านอกจากจะใช้ป้องกันโรคในปาล์มน้ำมันแล้ว  ยังสามารถใช้ได้กับพืชอื่นด้วย  ไม่ว่าจะเป็นยางพารา  ไม้ผล  หรือพืชผัก  ทั้งนี้วิธีการผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำ และขอรับการสนับสนุนหัวเชื้อได้ที่ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่

ภาพ / ข่าว / กระบี่  ** ณัฏฐพงษ์ ศรีปล้อง รายงาน

Related posts