พลโท สุรใจ จิตต์แจ้ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ( ผบ.นปอ.)กับวิสัยทัศน์ “ นปอ.4.0 สู่ความทันสมัย ก้าวไกลในภูมิภาค ”

พลโท สุรใจ จิตต์แจ้ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ( ผบ.นปอ.)กับวิสัยทัศน์ “ นปอ.4.0 สู่ความทันสมัย ก้าวไกลในภูมิภาค ”

 

 

ที่สอดรับกับแนวคิดในระดับรัฐบาลที่กำลังจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และวิสัยทัศน์ของกองทัพบกที่จะต้องทันสมัย เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน และเป็นหนึ่งในกองทัพชั้นนำของภูมิภาค จึงเป็นแนวคิดในการพัฒนาหน่วยงานที่มีการบูรณาการในทุกระดับ นอกจากนี้ยังน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาเข้ามาปรับใช้ในด้านการวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอีกด้วย

 

เนื่องจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) เป็นหน่วยที่มีภารกิจในการป้องกันภัยทางอากาศในพื้นที่ทางอากาศที่อยู่เหนือพื้นดินทั้งประเทศ โดยปฏิบัติงานร่วมกับกองทัพอากาศที่จะรับผิดชอบในการสกัดกั้นในแนวระวังป้องกันทางอากาศที่อยู่โดยรอบประเทศ หากมีอากาศยานที่สามารถเล็ดลอดผ่านแนวระวังป้องกันเข้ามาได้ก็จะมีการโอนมอบเป้าหมายเพื่อให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของกองทัพบกเข้าดำเนินการทำลายต่อไป ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีภัยคุกคามทางอากาศอย่างอื่นอีกที่ไม่ใช่อากาศยาน อาทิเช่น อากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ, จรวดร่อนนำวิถี, ขีปนาวุธระยะไกล เป็นต้น จะเห็นได้ว่าหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ก้าวทันตามภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นได้

 

หากจะขยายความแนวคิด นปอ.4.0 นั้น ก็จะพอสรุปอย่างย่อๆ ได้ว่าเป็นการพัฒนาหน่วยให้มีนวัตกรรม โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน และพัฒนากำลังพลในทุกให้มีศักยภาพสูงเพื่อสามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงได้ หรือที่ ผบ.นปอ.เรียกว่า Smart Soldier ที่เป็นการพัฒนากำลังพลภายใต้การสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างให้ นปอ. เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกำลังพลในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ในระดับพลทหาร ก็จะใช้ระบบการพัฒนาที่ เรียกว่า พลทหารเป็นศูนย์กลาง ที่จะพัฒนาในลักษณะของการต่อยอดจากพื้นฐานความรู้เดิมก่อนเข้ามารับราชการ จะทำให้เวลา 2 ปี เป็นเวลาแห่งการเรียนรู้และสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศชาติ เมื่อปลดประจำการไปก็ต้องไปเป็นกำลังสำคัญในการทำงานในด้านต่างๆ ให้กับประเทศชาติต่อไป ในระดับนายทหารชั้นประทวนก็ต้องมีความรู้ในระดับที่สูงขึ้นในทุกๆ ด้านที่เรียกว่า Smart Air Defense NCO เป็นการพัฒนามาตรฐานกำลังพลในระดับนายทหารชั้นประทวนโดยต่อเนื่อง จนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดใน 7 ด้าน ได้แก่ การทดสอบร่างกาย, การเดินเร่งรีบประกอบเครื่องสนาม, การใช้อาวุธประจำกาย, ความรู้ในด้านวิชาการ ประกอบด้วยภาษาอังกฤษ,คอมพิวเตอร์, การจดจำอากาศยาน และความรู้ในระบบการป้องกันภัยทางอากาศ

 

สำหรับนวัตกรรมทางด้านยุทโธปกรณ์ ถ้าต้องจัดหาอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงก็มักจะมีราคาสูงตามไปด้วย จึงได้น้อมนำศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านการวิจัยและพัฒนา มาดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัยในการป้องกันภัยทางอากาศ (Air Defense Researcher) จากภายในประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา และสถาบันที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยของประเทศไทย เพื่อร่วมกันกำหนดความต้องการและพัฒนาให้นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาให้ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ และนำเข้าสู่สายการผลิตจนสามารถนำเข้ามาประจำการในกองทัพให้ได้
นอกจากนี้ในการบริหารจัดการหน่วยก็ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งถือเป็นความสำคัญอย่างมากที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในทุกระดับ โดยได้นำเอาระบบบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี หรือหลักธรรมาภิบาล (GOOD GOVERNANCE) เข้ามาใช้ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ในช่วงปัจจุบันถือได้ว่าเป็นช่วงที่ทุกคนกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องประสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนที่เรียกว่า ประชารัฐ จึงถือว่าทุกภาคส่วนมีความสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไปด้วยกัน โดยให้มองและเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศให้ถ่องแท้ ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสมดุลในทุกมิติ ทำให้ประชาชนมีความสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ประเทศชาติปลอดภัยอย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต่อไป


โกสินธ์ จินาอ่อน ภาพ
โปร่ง พญาไม้ เรื่อง

ขอขอบคุณข้อมูลข่าวจาก หนังสือพิมพ์ สยามโฟกัสไทม์ http://www.siamfocustimenews.com

Related posts