ปทุมธานี ปชช.อิ่มบุญทอดกฐินสามัคคีทางน้ำวัดนังคัลจันตรีพร้อมสืบสวนประเพณี 4 ภาค
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 เวลา 13:30 น. นายดรณ์ สมิตะเกษตริน นายอำเภอลำลูกกา นายยงยุทธ มั่นบุปผชาติ นายกเทศมนตรีตำบลลำลูกกา พร้อมข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ร่วมพิธีประเพณีทอดกฐินสามัคคีทางน้ำ ได้เงินร่วมบุญกฐินสามัคคีในครั้งนี้ 2,010,000 บาท ที่วัดนังคัลจันตรี คลองหกวาสายล่าง ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ซึ่งมีขบวนเรือที่ร่วมแห่กฐินทางน้ำจำนวน 60 ลำ โดยเริ่มที่แพหน้าที่ว่าการอำเภอลำลูกกา เป็นจุดลงเรือล่องไปตำลำคลองหกวา มุ่งหน้าไปยังวัดธัญญะผล (วังมัจฉา) คลอง 8 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี และกลับมาที่ วัดนังคัลจันตรี ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานีรวมระยะทาง 4 กิโลเมตร สำหรับความเป็นมาของคลองหกวาสายล่าง หรือคลองหกวา ขุดขึ้นโดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามโครงการทุ่งรังสิต ระหว่างปี พ.ศ. 2433 – พ.ศ. 2447 และเป็นคลองที่อยู่ล่างสุดของโครงการ มีความกว้างหกวา คลองหกวาสายล่างเริ่มต้นจากจุดบรรจบของคลองสอง และคลองถนน รอยต่อเขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กับอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นเส้นแบ่งเขตกรุงเทพฯ กับปทุมธานีออกจากกันในช่วงต้น และผ่านเข้าอำเภอลำลูกกา ในช่วงปลายคลองเป็นเส้นแบ่งอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายกกับอำเภอบางน้ำเปรี้ยวฉะเชิงเทรา และสิ้นสุดที่แม่น้ำนครนายก มีความยาว 61 กิโลเมตร คลองหกวาสายล่างมีความสำคัญต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมากและการคมนาคม
ด้านนายนายยงยุทธ มั่นบุปผชาติ นายกเทศมนตรีตำบลลำลูกกา กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่ลำลูกกาเป็นป่ารก ถนนหนทางไม่มีการสัญจรของชาวบ้านในอำเภอลำลูกกาจะใช้เรือในการเดินทาง รวมถึงการไปทำบุญตักบาตรตามวัดก็จะใช้เรือในการเดินทางไปตามลำคลองหรือลำลางสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลังจากการออกพรรษาของทุกๆปี ชาวบ้านก็จะรวมตัวกันทอดกฐินถือเป็นการทำบุญใหญ่หลังจากการออกพรรษา ซึ่งก็จะใช้เรือพากันไปเป็นขบวนเพื่อทอดกฐินที่วัดใกล้บ้าน ต่อมาความเจริญจากเมืองหลวงเริ่มขยายตัวออกมาถึงชนบทโดยมีการทำถนนหนทางขึ้น การสัญจรไปมาเริ่มสะดวกขึ้น การใช้รถเป็นพาหนะก็มีมากขึ้น ซึ่งการไปทำบุญที่วัดก็จะใช้รถแทนเรือรวมไปถึงการทอดกฐินอีกด้วยที่ใช้รถเป็นพาหนะในการเดินทาง การทอดกฐินทางน้ำของชาวบ้านได้จางให้ไป ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน
สมัยโบราณนิยมแห่ผ้ากฐินไปทอดตามวัดต่าง ๆ โดยอาศัยเรือเป็นสำคัญ การเดินทางไปตามลำน้ำมักมีอันตรายจากสัตว์น้ำต่าง ๆ เนือง ๆ เช่น จระเข้ขึ้นมาหนุนเรือให้ล่ม ขบกัดผู้คนบ้าง คนแต่ก่อนหวั่นเกรงภัยเช่นนี้ จึงคิดอุบายทำธงจระเข้ปักหน้าเรือไปเป็นทำนองประกาศให้สัตว์ร้ายในน้ำ เช่น จระเข้ ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่และดุร้ายกว่าสัตว์อื่น ๆ ในน้ำ ให้รับทราบการบุญการกุศล จะได้พลอยอนุโมทนาและมีจิตใจอ่อนลง ไม่คิดที่จะทำอันตรายแก่ผู้คนในขบวนซึ่งเดินทางไปประกอบพิธีการทางศาสนา ทาง ทต.ลำลูกกา ได้เล็งเห็นความสำคัญวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษในการทอดกฐินทางน้ำ จึงได้รื้อฟื้นประเพณีการทอดกฐินทางน้ำขึ้นมาเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นวัฒนธรรมของชาวพุทธศาสนาช่วยกันนำพาสืบทอดต่อไปให้คงอยู่กับท้องถิ่นตามวิถีชีวิตดังเดิม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวให้กับชาวไทยและชาวต่างชาติได้มาเห็น ทำให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นได้หมุนเวียนอีกด้วย ทั้งนี้เราจะเริ่มทอดกฐิน วัดแรกจะเป็นวัดธัญญะผล และ วัดที่สองจะเป็นวัดนังคัลจันตรี หลังจากทอดกฐินวัดนังคัลจันตรีเสร็จ ก็มีการแสดง ศิลปะประเพณี 4 ภาค โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเหนือมีเรือจากจังหวัดน่าน ภาคอีสานเรือจากแม่น้ำมูลหลายจังหวัด เรือภาคกลาง และสุดท้ายเรือภาคใต้เป็นเรือกอและ มาให้ชมในการร่วมทอดกฐินทางน้ำสามัคคี และยังมีการแสดงรำประเพณี 4 ภาคจากประชาชนที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยในอำเภอลำลูกกา ทั้งที่มาจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคกลางเอง ซึ่งไม่ว่าจะมาจากภูมิภาคใด ต่างก็มีความสามัคคีเพื่อพัฒนาชุมชนที่อาศัยให้น่าอยู่ต่อไป
ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ /รายงาน